เครือข่ายเข้มแข็ง กองทุนยั่งยืน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

By admin, เดือนสิงหาคม 6, 2010

image002

แบบบันทึกองค์ความรู้

ชื่อ – นามสกุล   นายธีระยุทธ  ศรียะ

ตำแหน่ง   นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

สังกัด    สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภออมก๋อย    จังหวัดเชียงใหม่

เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก     089-xsxxxxxx

ชื่อเรื่อง  เครือข่ายเข้มแข็ง  กองทุนยั่งยืน

เนื้อเรื่อง

            เมื่อปี 2550  ผมดำรงตำแหน่ง นักพัฒนาชุมชน 6  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน    ซึ่งสภาพโดยทั่วไปของชาวอำเภอแม่ลาน้อย เป็นกะเหรี่ยง  80%  ไทยใหญ่  10%  คนพื้นเมือง  8%  อื่นๆ เช่น  คนต่างถิ่น ม้ง ละว้า  2%  สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกร และรับจ้างทั่วไป  การตั้งบ้านเรือนตั้งตามไหล่เขา พื้นที่ราบเชิงเขา  แต่ละหมู่บ้านส่วนใหญ่การเดินทางทุรกันดาร ที่ตั้งของหมู่บ้าน/หย่อมบ้านห่างไกลกัน  พาหนะที่คล่องตัวที่สุดคือ มอร์เตอร์ไซด์

           พัฒนาการอำเภอได้มอบหมายให้ผมรับผิดชอบงานกองทุนหมู่บ้าน  ปัญหาสำคัญที่พบ และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การแก้ไขปัญหากลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ที่เก็บจากสมาชิก คนละ 5 บาท เก็บครั้งละ 50 บาท  หากสมาชิกเสียชีวิต จะได้รับเงินช่วยฌาปนกิจศพละ  8,000  บาท ขณะที่ผมเข้าไปรับผิดชอบ  ปัญหากำลังสุกงอม และใกล้แตกหัก (ล้มกิจการ) มีการหยุดเก็บเงินจากสมาชิกแล้ว  มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีประมาณ 23,000 กว่าบาท  มีสมาชิกที่เสียชีวิตรอรับเงินอยู่ 2 ราย  ผมจึงได้เข้าไปศึกษารายละเอียดของปัญหา  ด้วยการไปพบปะพูดคุยกับคณะกรรมการบริหารกลุ่มฌาปนกิจ  คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน  สมาชิกกองทุนหมู่บ้านทั้งที่เป็นสมาชิกกลุ่มฌาปนกิจและไม่ได้เป็นกลุ่มฌาปนกิจ รวมถึงผู้ประสานงานของเครือข่ายกองทุน

      ปัญหาที่พบ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการ  เช่น

              -  คณะกรรมการที่เก็บเงินไม่มีค่าตอบแทน แรกๆ ก็ทำด้วยความเสียสละ แต่เมื่อไปเก็บเงิน บางที่สมาชิกไม่อยู่บ้านก็ต้องไปหลายรอบ  เก็บเงินได้ไม่ครบ  รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายมาส่งเงินให้เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของเครือข่าย เพื่อลงบัญชีและนำเงินฝากธนาคาร   ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากทำ  

       -  การกำหนดจ่ายให้สมาชิกที่เสียชีวิตคนละ  8,000 บาท โดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือ  สมาชิกไม่มีเพิ่ม กลับลดลงจากการเสียชีวิต ดังนั้นการเก็บเงินจากสมาชิกจึงลดลง การจ่ายเงินเมื่อสมาชิกเสียชีวิตจึงควรลดลงตามสัดส่วนของสมาชิกที่เหลือ  แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่นำปัญหามาพูดคุยตกลงกัน  ยังคงมีการจ่ายเงิน  ศพละ 8,000  บาท  ท้ายที่สุดจึงเป็นปัญหาว่าเงินจะไม่พอจ่ายให้แก่สมาชิกที่จะเสียชีวิตในอนาคตอันใกล้ได้  (เดิมสมาชิกมีประมาณ  1,700 คน  ณ วันที่เข้าไปแก้ไขปัญหามีประมาณ  1,300  กว่าคน ลดลงจากการลาออก  และการเสียชีวิต)

         -  คณะกรรมการเก็บเงินแล้ว บางคนไม่มีใบเสร็จให้  ทำให้สมาชิกขาดความไว้วางใจ

         -  กรรมการกองทุนบางกองทุน เกิดความไม่พอใจในการบริหารงาน เช่น กองทุนของตัวเองส่งเงินครบสม่ำเสมอ  ตรงตามกำหนดนัดหมาย  แต่บางกองทุนเก็บได้ไม่ครบ ไม่ตรงกำหนด  ทำให้สถานะทางการเงินในภาพรวมของกลุ่มฌาปนกิจมีปัญหา

          -  ไม่มีระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษร ,

          -  ขาดการประชุมพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

           -  คณะกรรมการกลุ่มฌาปนกิจบางคนไม่ให้ความร่วมมือ ขัดแย้งกันเอง และขาดการประชุม

ฯลฯ 

      เมื่อทราบปัญหาแล้ว  ผมได้นัดประชุมคณะกรรมการเครือข่ายกองทุนระดับอำเภอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการบริหารกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ด้วย  เพื่อแจ้งปัญหา และร่วมกันหาทางออก  บางคนเห็นว่าควรล้มเลิก  บางคนเห็นว่าควรทำต่อไปแต่ต้องรัดกุมและบริหารจัดการให้ดีกว่านี้  บางคนเห็นว่าควรทำแบบประกันชีวิตไปเลย  หลากหลายความคิดเห็น 

           ผมได้ชี้แจงที่ประชุมว่าโดยหลักการแล้วผมเห็นด้วยที่เครือข่าย  จะสร้างสวัสดิการให้แก่สมาชิกกองทุนที่เสียชีวิต ไม่อยากให้ล้มเลิกแต่ก่อนอื่นต้องแก้ไขปัญหาปัจจุบันนี้ก่อน  โดยแนะนำว่า

           1.  ตรวจสอบสิทธิ และจ่ายเงินให้สมาชิกที่เสียชีวิตก่อน  เงินที่เหลือให้ถามสมาชิกว่าควรทำอย่างไร  เช่น  ผลักเข้าเครือข่ายอำเภอ หรือ คืนเจ้าของเงิน (ซึ่งหารแล้วจะได้เงินคืนคนละประมาณ 5 บาท) หรือควรทำอย่างไร

          2.  ผมได้เสนอว่าไหนๆ เราก็จะช่วยเหลือสมาชิกกองทุนแล้ว ควรทำให้ครอบคลุมมูลหนี้  รวมถึงสมาชิกกองทุนทั้งหมดแม้ว่าจะกู้เงินหรือไม่กู้เงินก็ตาม  โดยเสนอให้มีการเก็บเงินจากสมาชิกที่กู้เงินกองทุนร้อยละ 1 บาท  หากสมาชิกเสียชีวิตมีเครือข่ายจะชำระเงินต้นที่กู้พร้อมดอกเบี้ยให้  เป็นการผ่อนภาระแก่ทายาท และผู้ค้ำประกัน  อีกทั้งกรรมการก็ไม่ต้องกังวลว่าหนี้จะสูญ  นอกจากนี้หากสมาชิกกลุ่มที่จะขอเข้าร่วมโดยไม่ได้กู้เงินก็สามารถทำได้โดยชำระเงินให้เครือข่าย  100  แต่ไม่เกิน  200  หากเสียชีวิตจะช่วยฌาปนกิจ 100 เท่าของเงินที่ชำระ  เช่น  จ่ายเครือข่าย  100  บาท  เสียชีวิตจะได้รับเงิน  10,000 บาท  เป็นต้น  โดยยกตัวอย่างของอำเภอสารภี และอำเภอดอยเต่า  เป็นตัวอย่าง  ซึ่งคณะกรรมการก็ให้ความสนใจ แต่ขอให้ผมไปศึกษาเพิ่มเติม และแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่สมาชิกกลุ่มฌาปนกิจอีกครั้ง

         เมื่อได้การบ้านจากคณะกรรมการเครือข่ายกองทุนอำเภอฯ แล้ว  ผมได้แจ้งพัฒนาการอำเภอและไปศึกษาการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรค  ของกลุ่มสวัสดิการของอำเภอดอยเต่า และอำเภออื่นๆ ตลอดจนสอบถามเพื่อพัฒนากร ที่มีประสบการณ์หลายท่าน เมื่อเห็นว่ามีแนวทางที่เหมาะสมแล้ว  ผมได้ร่างระเบียบขึ้นมา  เพื่อเตรียมให้คณะกรรมการเครือข่ายและประธานกองทุนทุกกองทุน   จากนั้นจึงได้เรียกประธานกองทุนหมู่บ้านทุกกองทุน รวมถึงตัวแทนสมาชิกกองทุนที่เข้ากลุ่มฌาปนกิจมาร่วมประชุม  วันนั้นคนเข้าร่วมประชุมประมาณ  200 – 300 คน ถือว่าเยอะมาก เต็มความจุของห้องประชุม

              ผมขอให้คณะกรรมการเครือข่ายทุกคน ผู้ประสานงานเครือข่าย พัฒนาการอำเภอ และผม รวม  8 – 9  คน  นั่งหน้าห้องประชุม  ที่ยกพื้นสูงประมาณ  80  ซม.  ซึ่งผู้เข้าประชุมทุกคนสามารถมองเห็นได้ ชัดเจน

         – พัฒนาการอำเภอเปิดประชุมทักทาย และขอให้ทุกคนตั้งใจรับฟัง และถามปัญหาได้ทุกเรื่อง พร้อมทั้งขอให้ทุกคน  ทำหน้าที่ของสมาชิกกองทุนที่ดี

         -  ประธานเครือข่ายชี้แจงปัญหาอุปสรรค   ในการดำเนินงานของกลุ่มฌาปนกิจให้สมาชิกทุกคนฟัง  และมีการสอบถามเป็นระยะ  แสดงถึงความไม่เข้าใจในการบริหาร และการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการกลุ่มฌาปนกิจ

        -  เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานเครือข่ายชี้แจงยอดเงินที่เก็บได้  การจ่ายชำระเงินให้แก่ผู้เสียชีวิต และยอดเงินคงเหลือ

                มาถึงตรงนี้  ที่ประชุมเริ่มมีเสียงดังมากขึ้น  แสดงถึงความไม่เข้าใจ และความคิดเห็นต่างๆ นานา  ก่อนที่เหตุการณ์ณ์จะวุ่นวายไปมากกว่านี้  ผมได้ขอให้ที่ประชุมเงียบ และฟังผม (ด้วยถ้อยคำที่เสียงดัง และดุเล็กๆ)  “อำเภอได้รับทราบปัญหาของกลุ่มแล้ว และกำลังหาทางแก้ไขให้ท่าน…แต่ในเบื้องต้นได้ตรวจสอบแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาในการบริหารจัดการ  ไม่ใช่ปัญหาของการทุจริตของใคร หรือของคนใดคนหนึ่ง”  เสียงค่อยเงียบขึ้นมานิดหนึ่ง  “..แต่ตอนนี้เราต้องหาทางออกร่วมกันก่อนว่าเงินเหลือจ่ายสมาชิกที่เสียชีวิตจะทำอย่างไร? ”  เสียงในที่ประชุมก็อื้ออึงขึ้นอีก มีเสียงหนึ่งดังขึ้นชัดเจนว่า “แบ่งกันเลย ได้เท่าไรก็ช่างมัน”  ผมต้องขอร้องให้เงียบเสียงอีกครั้ง  พร้อมกับคำณวนว่าถ้าแบ่งกันจะได้คนละ  5 บาท (เงินทั้งหมดประมาณ  6,000 กว่าบาท)  ซึ่งมันก็น้อยเกินไป  ผมจึงเสนอว่า  ถ้าอย่างนั้นถ้าสมาชิกท่านใดเสียชีวิตต่อจากนี้ก็มอบให้สมาชิกท่านนั้นไป  แต่ต่อไปเงินก็จะหมด และจะไม่มีการเก็บอีก  ที่ประชุม

 เงียบ  ผมจึงขอยกมือฟังเสียงประชามติ  2-3  ครั้ง จึงได้มติที่ประชุมชัดเจนว่า เงินที่เหลือทั้งหมดจะยกให้สมาชิกที่เสียชีวิตคนล่าสุดทั้งหมด  ถ้ามีหลายคนก็เฉลี่ยแบ่งให้คนละเท่าๆ กัน  เรื่องจึงจบลง

                ถึงตอนสำคัญที่ผมจะดึงคนที่กำลังสับสน  และไม่ไว้วางใจซึงกันและกันให้มาร่วมกันทำงานใหญ่อีกครั้ง  ผมได้สรุปประเด็นปัญหาของกลุ่มฌาปนกิจ  ปัญหาของกองทุนหมู่บ้านที่มีสมาชิกเสียชีวิต และสร้างภาระให้แก่ผู้ค้ำประกัน  ทายาท และคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน  สร้างความแตกแยกในชุมชน  สร้างปัญหาในการบริหารกองทุน   ซึ่งส่วนใหญ่ทราบดีอยู่แล้ว  ผมได้ขอร้องให้ทุกคนมาร่วมมือกันใหม่สร้างสวัสดิการขึ้นมาใหม่  และได้นำเสนอแนวทางที่เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านระดับอำเภอ ได้ให้ความเห็นชอบมอบให้ผมไปศึกษา  โดยแจกเอกสารให้กองทุนละ 1 ชุด  ไปศึกษา และได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมว่า

             1.  กองทุนสวัสดิการนี้จะรับสมาชิกกลุ่มฌาปนกิจเก่าทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตาม  ที่สมัครใจจะเข้าร่วม  และไม่บังคับหากไม่ประสงค์เข้าร่วม

              2.  กองทุนฯ นี้จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกกองทุนที่กู้เงิน ตามจำนวนเงินที่กู้ ร้อยละ 1 บาท และให้ความคุ้มครอง  100 เท่า พร้อมดอกเบี้ยของกองทุน  เป็นเวลา  365 วัน หรือจนกว่าสมาชิกกองทุนชำระเงินกู้เรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับเวลาไหนถึงก่อน  เช่น กองทุนหมู่บ้านนกยุง ปล่อยเงินกู้ให้สมาชิกคิดดอกเบี้ยร้อยละ  6   นาย ก  กู้เงิน  10,000 บาท  จ่ายเข้ากองทุน  100 บาท  เมื่อเสียชีวิตกองทุนจะชำระหนี้ให้กองทุนหมู่บ้านนกยุง  แทนนาย ก  เป็นเงิน  10,600 บาท (เงินต้น  10,000 บาท  ดอกเบี้ย  600 บาท)  หรือหมู่บ้านนายาง ปล่อยเงินกู้ให้สมาชิกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5   นาย ข  กู้เงิน  20,000 บาท จ่ายชำระเงินเข้ากองทุนสวัสดิการ  200  บาท  หากนาย ข  เสียชีวิต   กองทุนสวัสดิการจ่ายเงินให้กองทุนนายาง แทนนาย ข  เป็นเงิน  21,000  บาท   (เงินต้น  20,000 บาท  ดอกเบี้ย  1,000 บาท)   เป็นต้น

              3.  สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ที่ไม่กู้เงิน หากประสงค์เข้าร่วมกองทุน สามารถจ่ายเงินเข้ากองทุนพร้อมสมาชิกที่กู้เงิน  กรณีเสียชีวิตกองทุนสวัสดิการจ่ายเงินให้ทายาท  100 เท่าของเงินที่ส่งเข้ากองทุน  แต่ไม่เกิน  200  บาท  และอายุไม่เกิน  60 ปี  ยกเว้นคนที่กู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านมาก่อนแล้ว  5  ปีติดต่อกัน การตรวจสอบสิทธิของผู้เข้าร่วมกองทุนเป็นของคณะกรรมการหมู่บ้าน หากผิดเงื่อนไขกองทุนสวัสดิการจะยกเลิกความคุ้มครอง

           4.  การเข้าร่วมกองทุนสวัสดิการ หากปล่อยเงินกู้ไม่ถึง  6  เดือน ต้องเข้าร่วมกองทุน หากปล่อยเงินกู้เกิน 6  เดือน  จะไม่เข้าร่วมก็ได้

           5.  การคุ้มครอง จากการเสียชีวิตทุกกรณี

ฯลฯ 

เมื่อถึงตรงนี้  ผมได้ขอประชามติว่าเห็นควรจะดำเนินการหรือไม่  เงียบ  ไม่มีเสียงตอบรับ หลายคนสงสัยว่าจะเริ่มอย่างไร  เก็บเงินเมื่อไร   ผมตอบว่า การตั้งกองทุนสวัสดิการครั้งนี้ต้องใช้ความร่วมมืออย่างสูง  และทุกคนที่กู้เงินต้องเข้าร่วม ไม่อย่างนั้นจะมีความเสี่ยงสูง  การเก็บเงินจะเก็บขณะที่มาขอยื่นกู้เงิน ที่สำนักงานพัฒนาชุมชน  พร้อมกับให้ความมั่นใจแก่ผู้เข้าประชุมว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจะดูแลอย่างใกล้ชิด และช่วยคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการในการดูแลให้เกิดความโปร่งใส  ผมขอมติอีกครั้ง  เงียบ 

ผมจึงให้เวลาแก่ผู้เข้าร่วมประชุมไปหารือกันในแต่ละกองทุน เพื่อชี้แจงและนัดประชุมอีกครั้ง  ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา  ระหว่างนั้นมีคณะกรรมการกองทุนมาหารือเป็นระยะ  และกองทุนหมู่บ้านไหนที่มาติดต่อราชการ  ผมก็จะชี้แจงแนวทางให้ทราบ และร้องขอความร่วมมือ

เมื่อถึงกำหนดประชุม  ผมได้ชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง พร้อมตอบข้อซักถามที่ประธานกองทุนข้องใจ  เมื่อเห็นว่าทุกคนทราบ และเข้าใจในหลักการแล้ว  ผมจึงตั้งเงื่อนไขว่า หากมติที่ประชุมมีเสียงส่วนใหญ่ ยอมรับในการจัดตั้งก็จะใช้บังคับกับทุกกองทุน  เสร็จแล้วผมก็ขอเสียงประชามติ  ที่ประชุมส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบ   ผมจึงขอบคุณ และบอกให้คณะกรรมการกองทุนว่า       หากกองทุนหมู่บ้านใหน อยากให้ผมไปชี้แจงแก่สมาชิกเพิ่มเติมผมก็ยินดีจะไป   จากนั้นจึงปิดประชุม

           ผมปฏิบัติราชการที่อำเภอแม่ลาน้อย  1  ปี  จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 3 ปี กองทุนสวัสดิการของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านอำเภอแม่ลาน้อย มีเงินสดหมุนเวียน (ทั้งเงินทุนและผลกำไร)  ประมาณ 409,076 บาท  เป็นความภูมิใจเล็กๆ ที่แก้ปัญหา และสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านระดับอำเภอได้  ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนงานของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอได้เป็นอย่างมาก..  กลับไปเยี่ยมทีไรก็ชื่นใจ

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge  Assets)

-  สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพัฒนากร   เครือข่าย  และ ผู้นำชุมชน

-  การประสานผลประโยชน์ ด้วยความยุติธรรม

-  การรับฟังความคิดเห็น ของสมาชิกและผู้นำชุมชน

-  การบริหารจัดการเงินทุนชุมชน

- การประชุมชี้แจง  การสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

แก่นความรู้ (Core Competencies)

-  การเข้าใจปัญหา

-  การปรึกษาหารือ หาแนวทางแก้ไขปัญหา และข้อยุติ

-  การให้การสนับสนุน อย่างทุ่มเท และจริงใจ

กลยุทธ์ในการทำงาน

  1. การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับกรรมการเครือข่าย และผู้นำชุมชน
  2. ศึกษาสภาพปัญหา  สาเหตุ  ผลกระทบ  แนวทางการแก้ไขปัญหา
  3. หารือพัฒนาการอำเภอ และเพื่อนร่วมงาน  เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม

4.  ใช้การประชุมชี้แจง  เพื่อแสวงหาความคิด ความร่วมมือ การยอมรับจากทุกฝ่าย

5.  แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา  ด้วยความทุ่มเท และเสียสละ

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

-   พระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  พ.ศ.2547

-   ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  พ.ศ.2551

-    ระเบียบของกองทุนสวัสดิการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านอำเภอดอยเต่า

……………………………………………….

(นายธีระยุทธ   ศรียะ)

นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

OfficeFolders theme by Themocracy