ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคุณภาพ แม่กำปอง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

แบบบันทึกองค์ความรู้
ชื่อ – นามสกุล นางนงเยาว์ ทองสมบูรณ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมนอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก สำนักงานฯ 053-929119 /มือถือ 081-xxxxxxx
ชื่อเรื่อง ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคุณภาพ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคม 2553
สถานที่เกิดเหตุการณ์ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนแม่กำปอง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
เนื้อเรื่อง
ในช่วงระหว่างวันที่ 18 – 25 พฤษภาคม 2553 ข้าพเจ้าในฐานะเป็นพัฒนากรผู้ประสานงานตำบลห้วยแก้ว ได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่กำปอง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว เพื่อเตรียมงานกิจกรรมการประกวดตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่าย/กลุ่มองค์กรชุมชนดีเด่น ซึ่งอำภอแม่ออน ได้พิจารณาคัดเลือกบ้านแม่กำปองเข้าร่วมประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็น เป็นสุข ประจำปี 2553 และในกิจกรรมย่อยตามโครงการฯ มีกิจกรรมด้านการเรียนรู้ คือศูนย์เรียนรู้ชุมชน ซึ่งบ้านแม่กำปองได้กำหนดเป้าหมายในการเตรียมการในการปรับปรุงศูนย์เรียนรู้ชุมชน โดยใช้อาคารเรียนของโรงเรียนวัดแม่กำปองที่ร้าง มิได้ใช้ประโยชน์มานาน แล้วนำปรับปรุงใช้เป็นที่ทำการศูนย์เรียนรู้ชุมชนแม่กำปอง ผู้ใหญ่บ้าน/คณะกรรมการหมู่บ้าน และพัฒนากรผู้ประสานงานตำบล รวมทั้งภาคีการพัฒนาระดับตำบล จึงได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินการปรับปรุงศูนย์เรียนรู้ โดยได้กำหนดรูปแบบของศูนย์เรียนรู้ชุมชนแม่กำปอง คือ
1. การเรียนรู้ภายในอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ ได้แก่
– เป็นสถานที่ตั้งของกลุ่ม/องค์กรต่าง ๆ ในชุมชน เช่น ที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์ฯ,กทบ.,กข.คจ.กลุ่มท่องเที่ยวและโฮมสเตย์,กลุ่มหมอนสมุนไพรใบชา หรือสหกรณ์ไฟฟ้าโครงการหลวงแม่กำปอง จำกัด เป็นต้น
- เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการกองทุนการเงินของชุมชน
– เป็นที่ทำการคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)
- เป็นจุดสาธิตกิจกรรมด้านการเรียนรู้ของชุมชน เช่นการผลิตหมอนสมุนไพรใบชา
- เป็นศูนย์ข้อมูลชุมชนของหมู่บ้าน
– เป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในชุมชน และภายในอกชุมชน เช่นการศึกษาดูงานจากกลุ่ม/องค์กร สถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษาที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานฯ
2. การเรียนรู้ภายนอกอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ
– เรียนรู้เรื่องแหล่งพลังงานชุมชน
– เรียนรู้รูปแบบการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์
- เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน
– เรียนรู้วิถีชีวิตการทำสวนเมี่ยง/กาแฟ
– เรียนรู้การแปรรูปกาแฟ
และทีมงานได้กำหนดเป้าหมายแล้วเสร็จ : ภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 เพื่อรองรับการติดตามจากคณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดฯ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2553
ซึ่งในเนื้องานการจัดแสดงข้อมูลผลการดำเนินงานของกลุ่มกองทุนการเงินภายในชุมชน กำหนดให้มีการแสดงข้อมูลพื้นฐานของแต่ละกลุ่มฯ เช่น ประวัติการก่อตั้งกลุ่ม, โครงสร้างคณะกรรมการบริหารกลุ่มฯ ผลการดำเนินงานของกลุ่มในรอบปีที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานในปีต่อไป
จึงได้มอบหมายหน้าที่ ความรับผิดชอบให้แก่คณะกรรมการกลุ่มแต่ละกลุ่มได้ดำเนินการจัดแสดงข้อมูลผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มฯ เพื่อให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยการกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของศูนย์เรียนรู้ชุมชน ,ประโยชน์ที่เกิดจากการเข้ากิจกรรมการประกวดที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนา รวมทั้งได้นำเอาโล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มาเป็นแรงจูงใจในการทำงานเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และยกย่องเชิดชูเกียรติต่อไป
ผลที่เกิดขึ้น
คณะกรรมการ /สมาชิกของแต่ละกลุ่ม และภาคีการพัฒนา ระดับตำบล มีความตั้งใจในการทำงาน ร่วมแรง ร่วมใจ และแข่งขันกับเวลาที่มีอย่างจำกัด บังเกิดผลสำเร็จได้ เป็นไปตามแผน และเป้าหมายที่กำหนดไว้
ภายใต้การทำงานเชิงบูรณาการ ก่อเกิดความภาคภูมิใจกับรางวัลแห่งความสำเร็จ “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนดีเด่น”
บันทึกขุมความรู้
- การมอบหมายงานให้แก่ผู้นำกลุ่ม/องค์กรชุมชน ดำเนินการจัดทำข้อมูลกลุ่มฯ เพื่อนำเสนอผลงาน ณ ที่ทำการกลุ่มแต่ละกลุ่มฯ ภายในศูนย์เรียนรู้ชุมชนแม่กำปอง
- ใช้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม
แก่นความรู้
- เสริมสร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชน ในการพัฒนาชุมชน
- กระตุ้นความคิดแก่แกนนำชุมชน กลุ่ม/องค์กรชุมชนในการดำเนินการพัฒนาภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของสมาชิกของกลุ่มฯ
- ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงาน โดยให้คำปรึกษา,แนะนำการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
แนวคิด/ทฤษฎีที่สอดคล้องกับแก่นความรู้
- ปรัชญาพื้นฐานการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นปรัชญาอันเป็นรากฐานของการพัฒนาชุมชนถือว่า “คน” เป็นทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) ที่มีความสามารถ และพลังอันซ่อนเร้น(Potential Ability)แฝงอยู่ อันได้แก่ พลังความคิด แรงงาน ฝีมือ หรือทักษะ ซึ่งพลังเหล่านี้ถ้าหากได้รับการขุดค้น และนำมาใช้ประโยชน์แก่ชุมชน ก็จะสามารถบันดาลความสำเร็จทั้งปวงให้แก่ชุมชนได้ ฉะนั้นวัตถุประสงค์สำคัญของการพัฒนาชุมชน จึงมุ่งกระตุ้น ส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มได้รู้จักใช้ความสามารถของตนเอง ช่วยเหลือตนเอง (Self-Help) และเข้ามามีส่วนร่วม (Participation) ในการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับชุมชน โดยอาศัยความต้องการที่แท้จริง(Felt– Needs)และความคิดริเริ่ม (Initiative) ของประชาชนในชุมชนเป็นหลักในการดำเนินงาน
นางนงเยาว์ ทองสมบูรณ์
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่