Posts tagged: หมวดองค์ความรู้อื่นๆ

๕๗ หัวเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่ มีชื่อ “เมืองแหงหลวง”

By admin, เดือนกรกฎาคม 31, 2011

๕๗ หัวเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่   มีชื่อ “เมืองแหงหลวง”

ข้อมูลเพิ่มเติมได้ทีี่   http://www.naresuanthai.net/

ชัยยง   ไชยศรี

ธันวาคม ๒๕๕๓

เรื่องราว ๕๗ หัวเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่ นั้น ตราตรึงอยู่ในใจของข้าพเจ้ามานานแล้ว เพราะอ่านพบในคัมภีร์ล้านนาฉบับต่างๆกล่าวถึงเสมอๆ แต่ไม่มีการบันทึกชื่อเมืองอย่างเป็นกลุ่มก้อนแม้แต่เพียงฉบับเดียว จนกระทั่ง ข้าพเจ้าได้อ่านเอกสารข้างฝ่ายพม่า ซึ่งมีชื่อว่า Zinme Yazawin  ๑   เป็นเอกสารที่บันทึกเหตุการณ์ ข้อมูลสำคัญของนครเชียงใหม่ ในสมัยที่พม่าปกครองนครเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นตรงกับรัชกาลของพระเจ้า นรธามังช่อ ( Nawrahtaminsaw -  พระโอรสของพระเจ้าบุเรงนองกับพระนางวิสุทธิเทวีแห่งนครเชียงใหม่และล้านช้างเป็นกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๑๒๒ -๒๑๕๐) พระองค์มีพระราชโองการให้เสนาบดีทั้ง ๔ คือ พญาจ่าบ้าน( Cha Ban) พญาแสนหลวง( Saen Luang   พญาสามล้าน(Sam  Lan ) พญาเด็กชาย(Paran )                     เรียกประชุมบรรดานักปราชญ์ ราชบัณฑิต ผู้รู้ทั้งปวงในราชอาณาจักรทั้งฝ่ายสงฆ์ ซึ่งพระเถระบางรูปมีอายุมากถึง ๘๘ ปีและฝ่ายคฤหัสถ์ทั้งท้าวพญา ผู้ปกครองเมือง  และหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งผู้มียศตำแหน่งทั้งหลาย มาให้ปากคำและบันทึกเกี่ยวกับการบริหารราชการ ขนบธรรมเนียมประเพณีจารีตที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลก่อน และด้วยเหตุนี้เองเราจึงรู้รายชื่อ ๕๗ หัวเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่ หลังจากนั้น ต่อมาหลายชั่วอายุคนเอกสารฉบับนี้ตกอยู่ในการครอบครองของเจ้าฟ้าแห่งเมืองสีป้อ (รัฐฉาน ประเทศพม่า) จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๖ ( ค.ศ. ๒๐๐๓)ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ได้ดำเนินโครงการร่วมกับ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (Yangon ) ประเทศพม่า แปลเอกสารฉบับนี้มาเป็นภาษาอังกฤษ  แต่ด้วยข้อจำกัดของภาษาอังกฤษ ไม่สามารถสะกดอักษรให้ตรงกับต้นฉบับ ซึ่งอาจจะแปลมาจากภาษาล้านนาได้ครบ จึงทำให้ชื่อเมืองนั้นอาจออกเสียงได้หลายอย่าง เช่น Muang Long อาจอ่านว่า เมืองลอง หรือ เมืองโหล่ง  ก็ได้ เนื่องจากเมืองนี้ มีชื่อเมืองซ้ำซ้อนกัน ดังนี้เป็นต้น

แต่เอกสารชิ้นนี้ก็ได้ให้รายชื่อเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่เกือบครบถ้วน คงมีจำนวนน้อยเท่านั้น                       ที่ยังคลุมเครือ และจะต้องมีการสืบค้น วินิจฉัย ตีความให้เป็นข้อยุติต่อไปในภายหน้า  รายชื่อเมืองต่างๆ                  ที่บันทึกไว้ มีดังนี้

๑ Zinme Yazawin ( Chronicle of Chiang Mai ) จัดพิมพ์โดย Universities Historical Research Centre Yangon ,2003

รายชื่อ ๕๗ หัวเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่ในสมัยราชวงศ์มังราย และสมัยนครเชียงใหม่ อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า( รัชกาลพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ,พระนางวิสุทธิเทวีในพระเจ้าบุเรงนอง  และรัชกาลพระเจ้านรธามังช่อ  พ.ศ.๒๑๐๑ – ๒๑๕๐ )


อนึ่งมีการบันทึกระยะทางจากศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ ถึงเมืองต่างๆ เป็น “ต่า”-Ta    ( ๑ ต่า เท่ากับ ๑๐.๕ ฟุต หรือเท่ากับ ๓ เมตร เศษ แต่จากการวัดระยะทางจริงในปัจจุบัน ผู้เรียบเรียงขอปรับค่าให้ ๑ “ ต่า”    มีค่าเท่ากับ ๑ วา หรือ ๒ เมตรซึ่งจะสอดคล้องใกล้เคียงกับระยะทางจริงยิ่งขึ้น )  ดังนี้

จากเชียงใหม่ ระยะทางเป็น ต่า/ (กม.)

ถึง หนองขวาง   (หนองอุก อ.เชียงดาว?)                            ๕๐,๐๐๐/ (๑๐๐ )

เมืองพะเยา                                                                 ๕๑,๐๐๐  /(๑๐๒)

เมืองลำปาง                                                                 ๕๕,๐๐๐/(๑๑๐ )

Legyi  (ไม่ทราบพิกัด)                                                 ๗๗,๐๐๐/(๑๕๔)

เมืองหาง                                                                      ๘๓,๐๐๐/(๑๖๖)

เมืองฝาง                                                                         ๘๗,๐๐๐ /(๑๗๔)

เมืองลอ  Lo  (อ.จุน จ.พะเยา)                                         ๙๕,๐๐๐/(๑๙๐)

เมืองเชียงราย                                                                 ๑๐๐,๐๐๐/(๒๐๐)

เมืองยวมใต้(อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน)                      ๑๐๒,๐๐๐/(๒๐๔)

เมืองแพร่                                                                        ๑๐๕,๐๐๐/(๒๑๐)

เมืองเชียงแสน                                                           ๑๓๓,๐๐๐/(๒๖๖)

แม่น้ำสาละวิน  Yunzalin                                               ๑๔๐,๐๐๐/(๒๘๐)

เมืองเทิง เชียงของ (จ.เชียงราย)                                     ๑๔๑,๐๐๐/(๒๘๒)

เมืองสิม (รัฐฉาน พม่า)                                                 ๑๔๕,๐๐๐/(๒๙๐)

เมืองน่าน                                                                 ๑๗๘,๐๐๐/(๓๕๖)

เมืองปุ (รัฐฉาน  พม่า)                                                   ๑๙๓,๐๐๐/(๓๘๖)

เมืองหงสาวดี (Pegu พม่า)                                             ๒๔๗,๐๐๐/(๔๙๔)

เมืองเชียงราย ถึงเมืองเชียงรุ้ง (สิบสองปันนา จีน)            ๓๒๙,๐๐๐/(๖๕๘)

เมืองหงสาวดี ตามเส้นทางโบราณ                                   ๕๑๔,๐๐๐/(๑,๐๒๘)

พร้อมกันนี้มีการบันทึกว่า กรณีส่งขุนนางระดับต่างๆ ไปงานราชการ จะได้รับ  ทหาร คนหาบสัมภาระ คนรับใช้  ช้าง  ม้า และเบี้ยเลี้ยง ดังนี้

ไปราชการ ๖ เมืองใหญ่ จะได้รับ

ช้าง ๑ เชือก พร้อม นักรบ  คนใช้ ๖ คน ลูกหาบ ๔ คน ข้าว ๑๐ ทะนาน เงิน ๒๐ บาท เบี้ย ๓,๐๐๐ เบี้ย

ผู้ดูแลช้างศึก ได้รับคนใช้ ๒ คน ลูกหาบ ๑ คน ข้าว ๒๐ ทะนาน  เงิน๑๒.๕ บาท เบี้ย ๓,๐๐๐ เบี้ย

คนเครื่อง(นักรบ)  ได้รับคนใช้ ๒ คน ลูกหาบ ๒ คน ข้าว ๑๕ ทะนาน เงิน ๗.๕ บาท เบี้ย ๓,๐๐๐ เบี้ย

นายม้า ได้รับคนใช้ ๓ คน ลูกหาบ ๒ คน ข้าว ๒๐ ทะนาน เงิน ๑๒.๕ บาท เบี้ย ๓,๐๐๐ เบี้ย

ไปราชการ ๗ เมืองขนาดกลาง คือ

เมืองแหงหลวง (อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่), เมืองระแหง(ตาก), เมืองแพร่ ,เมืองเชียงของ ,เมืองเทิง, ,เมืองลอ (อ.จุน จ.พะเยา) และเมืองสาด (รัฐฉาน พม่า) จะได้รับ

ผู้ดูแลช้างศึก  ได้รับ  คนใช้ ๒ คน   ลูกหาบ ๑ คน  ข้าว ๑๕ ทะนาน  เงิน ๑๐ บาท เบี้ย ๓,๐๐๐ เบี้ย

ผู้ดูแลม้าหลวง ได้รับ คนใช้ ๓ คน   ลูกหาบ ๒ คน ข้าว ๒๐ ทะนาน เงิน ๑๔.๕ บาท เบี้ย ๔,๐๐๐ เบี้ย

นายราชวัลลภ ได้รับ คนใช้ ๑ คน   ลูกหาบ ๑ คน  ข้าว๑๐ ทะนาน    เงิน ๕ บาท เบี้ย ๒,๐๐๐ เบี้ย

ในจดหมายเหตุของพระราชโองการ จ.ศ. ๙๘๕ ระบุ จารีตการจ้างคนหาบสัมภาระคิดค่าจ้างตามระยะทาง ดังนี้

จากเชียงใหม่ ไปสายใต้ ผ่าน อ.ฮอด อ.แม่สะเรียง ท่าตาฝั่ง แม่น้ำสาละวิน และเมืองหงสาวดี

ถึงทุ่งพุม ๐.๒๕ บาท (หางดง?)

ห้วยแม่คำ Mekom  creek   ๑.๕๐ บาท (แม่น้ำขาน?สันป่าตอง)

จอมทอง  ๒.๕๐ บาท

ปอยก(ป่าหยวก?)เมืองฮอด Po Yok   ๕ บาท

เมืองยวม(แม่สะเรียง )   ๑๐ บาท

ท่าขอน  Tha Khuan   ๑๒.๕ บาท

แม่น้ำสาละวิน  Yunzalin  ๑๕ บาท

หงสาวดี  ๒๕ บาท

จากเชียงใหม่ ไปสายเหนือ

หนองขวาง/หนองอุก?   ๕ บาท(ระยะทางเท่าสายใต้   Po Yok อ.ฮอด ประมาณ  ๘๐ กม.)

ผ่านเชียงรายไปเชียงแสน  ๑๐ บาท(ระยะทาง  ๒๔๔ กม. ค่าจ้างหาบสัมภาระเท่ากับ ไป อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน)

และมีเครื่องประกอบยศในตำแหน่งต่างๆของรัชกาล พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ และรัชกาลของพระนาง           วิสุทธิเทวี  (พ.ศ. ๒๑๐๗ – ๒๑๒๑ -  พระราชมารดาของพระเจ้านรธามังช่อ)  ดังนี้

พญาจ่าบ้าน

พญาแสนหลวง

พญาสามล้าน

พญาเด็กชาย

ทั้ง ๔ พญา ได้รับเครื่องยศและเครื่องประกอบยศเหมือนกัน รวมทั้งพญาเชียงแสน ด้วย

๑.พญาจ่าบ้าน

-พานทองคำ หนัก ๒.๔ กิโลกรัม.-คนโท พร้อมฝาครอบทองคำ-กาน้ำชาทองคำ-สัปคับช้าง ภายนอกสีดำ ภายในสีแดง-ช้างพลาย-ช้างพัง-กลอง- ฉาบ- ปี่แน- หวูด(เขาควาย)

๒.พญาช่าง/แขก Chaik / Khaek

-อูบ-คนโท พร้อมฝาครอบทองคำ-กาน้ำชาทองคำ-ดาบด้ามและฝักหุ้มทอง-สัปคับช้าง  ภายนอกสีดำ ภายในสีแดง

๓.พญาข่วง Khuang

ฉัตร ๒ คัน- สัปคับช้าง ๔ เสา ภายนอกปิดทอง ภายในสีแดง-อูบ (ภาชนะใส่อาหาร มีฝาปิด)-กาน้ำชาทองคำ-ฝาครอบคนโททำด้วยทองคำ-ที่วางคนโท- ดาบด้ามและฝักหุ้มทองคำ  ๑ ด้าม

- ดาบด้ามทองและทองแดงผสม ๒ ด้าม- ดาบด้ามเงิน ๒ ด้าม- ดาบธรรมดา ๔ ด้าม -โล่ ๒ ใบ- สัปคับช้าง ๔ เสา ภายนอกปิดทอง ภายในสีแดง

๔. พญาเชียงราย

-   สัปคับช้าง  ภายนอกสีดำ ภายในสีแดงชาด   -   กลอง ๕ ใบ-  โล่ ๒ ใบ-  เขาสัตว์ ๒ อัน (หวูด ทำจากเขาควาย)

๕. พญาพะเยา Phayao

-รับเหมือนพญาเชียงราย

๖. พญาละคร(ลำปาง)

-รับเหมือนพญาข่วง

๗. พญาน่าน

- ดำรงสถานะเทียบเท่า พญาต่างประเทศ ได้รับการยกเว้นเข้าเฝ้าที่ เชียงใหม่- ฉัตรทอง ๒ คัน- สัปคับช้าง ภายนอกปิดทอง  ภายในสีแดง  เสางาช้าง- อานม้าขลิบทองและทองแดงผสม แผงข้างปิดทอง- หอกมีพู่ประดับ ๒ คัน-  ดาบด้ามและฝักหุ้มทองคำ  ๒ ด้าม- ดาบด้ามและฝักหุ้มทองคำและทองแดงผสม  ๒ ด้าม- ดาบธรรมดา ๖ ด้าม-อูบ-กาน้ำชาทองคำ-เชิงเทียนทองคำ-กล่องอัญมณีทองคำ/ทองแดงผสม-คนโท-ฝาครอบคนโทปิดทองคำ-ที่วางคัมภีร์-เบาะท้าวแขน- กลองยาว- กลองตีขัดจังหวะ- ฉาบเล็ก- ปี่แน- หวูดเขาควาย

๘.  พญาเมืองสาด

- สัปคับช้าง ภายนอกสีดำ ภายในสีแดง ขอบครึ่งวงกลมสีแดง  ส่วนปิดสีดำขลิบทองคำ

๙.  พญาเชียงของ

- สัปคับช้าง  ภายนอกสีดำ ภายในแดง- กลอง ๕ ใบ

๑๐. พญาเทิง

-   สัปคับช้าง  ภายนอกสีดำ ภายในสีแดง-   กลอง ๕ ใบ-  โล่ ๒ ใบ

๑๑.และพญาเมืองลอ Lo

- ได้รับเหมือนพญาเมืองสาด คือ สัปคับช้าง ภายนอกสีดำ ภายในแดง ขอบครึ่งวงกลมสีแดงซึ่งจะไม่มีก็ได้ ส่วนปิดสีดำขลิบทองคำ

อนึ่งข้าพเจ้าคาดว่าได้ค้นพบกุญแจไขความลับสำคัญประการหนึ่ง เกี่ยวกับเมือง “ปริศนา”   ที่พงศาวดารอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ หรือฉบับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๒๒๓บันทึกพื้นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่าเป็น “เมืองหลวง” ท้องที่ตำบล “ทุ่งดอนแก้ว” ซึ่งเหตุการณ์ ครั้งนั้นตรงกับรัชกาล พระเจ้านรธามังช่อ เป็นกษัตริย์ครองนครเชียงใหม่  และพระองค์ทรงร่วมเดินทัพในกองทัพหลวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งศึกสุดท้าย พ.ศ. ๒๑๔๘ ด้วย โดยในสมัยของพระองค์ ปรากฏว่า มีชื่อ   “เมืองแหงหลวง”  เป็น ๑ ใน ๕๗ หัวเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่ ส่วน”เมืองหาง”ไม่มีชื่ออยู่ในสาระบบ ๕๗  หัวเมืองขึ้นแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงคาดว่าเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการบันทึกชื่อเมืองในพงศาวดารอยุธยา โดยเจ้าพนักงาน ผู้บันทึกได้เขียนเฉพาะพยางค์สุดท้ายของ “เมืองแหงหลวง”เป็น “เมืองหลวง” เท่านั้น

สรุปข้อสันนิษฐานในชั้นต้นนี้ได้ว่า  “เมืองหลวง”    ก็คือ “เมืองแหงหลวง”    หรือ “เมืองเวียงแหง อ.เวียงแหง  จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๘.

เอกสารอ้างอิง

๑. Zinme Yazawin ( Chronicle of Chiang Mai )

จัดพิมพ์โดย Universities Historical Research Centre Yangon ,2003

๒.พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ หลวงประเสริฐอักษรนิติหรือฉบับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.๒๒๒๓

คนเปิดกรุเผยแพร่

OfficeFolders theme by Themocracy