การประเมินความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน (โดยใช้แผนผังใยแมงมุม)

By admin, เดือนเมษายน 18, 2012

KM. การประเมินความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน (โดยใช้แผนผังใยแมงมุม)

โดย  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ริม

ท่ามกลางกระแสการชี้วัด การประเมินความเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจากหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน มุมมองที่แตกต่าง สะท้อนให้เห็นภาพที่หลากหลาย ตลอดจนจัดระดับให้หมู่บ้านว่าเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับใด เคยมีใครถามความสมัครใจของชาวบ้านหรือไม่ว่าต้องการแบบไหน อย่างไร ทุกภาคส่วนต่างบอกว่าวิธีการของตนเองดี ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม อย่างน้อยก็ร่วมคิด ส่วนผลที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลา เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านนั่นเอง

อำเภอแม่ริม ได้รับมอบหมายให้ประเมินความสุขมวลรวมของหมู่บ้านเช่นกัน จึงได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อไม่ทำให้ชาวบ้านมาแล้วรู้สึกว่าเสียเวลา และไม่ได้อะไรเลย ดังนี้

ขั้นเตรียมการ

๑. เตรียมทีมงาน การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทีมงาน เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนเป็นหนึ่งเดียวร่วมกัน กำหนดบทบาท ภารกิจ และความรับผิดชอบที่ชัดเจน

๒. เตรียมอุปกรณ์ เช่น แผนผังใยแมงมุม ปรอทวัดความสุข แผ่นป้ายคะแนน (แยกตามสี ๑ชุดมี ๕ สี) แผ่นตารางการให้คะแนน เครื่องคิดเลข ปากกาเมจิก เทปกาว เชือกฟางสีสด ๆ กรรไกร และอื่น ๆ ตามสมควร

๓. เตรียมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แจ้งรายละเอียด การนัดหมาย สถานที่ วันเวลา แก่ครัวเรือนเป้าหมาย ๓๐ ครัวเรือน โดยหนังสือราชการถึงผู้ใหญ่บ้าน และประสานผ่านทางผู้นำชุมชนอีกทางหนึ่ง

๔. เตรียมสถานที่ ควรเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้สึกสบาย เป็นกันเอง เหมือนสถานที่พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนฝูง หรือคนในหมู่บ้าน อาจเป็นการนั่งล้อม หรือจัดเก้าอี้เป็นรูปตัวยู

ขั้นดำเนินการ

๑. วิทยากรกระบวนการเกริ่นนำถึงความเป็นมา วัตถุประสงค์ ตลอดจนสร้างความรู้เข้าใจ

๒. แจกแผ่นป้ายคะแนน ๑ คน ต่อ ๑ ชุด (๑ ชุดมี ๕ แผ่น ๕ สี กำหนดค่าคะแนนของแต่ละสี หรือเขียนเลขคะแนน ตั้งแต่ ๑ – ๕ ติดไว้ที่แผ่นป้ายก็ได้เพื่อกันลืมทั้งทีมงานและกลุ่มเป้าหมาย)

๓. อธิบายวิธีการให้ค่าคะแนน โดยให้กลุ่มเป้าหมายสมมุติตนเองเป็นครู เมื่อวิทยากรกระบวนการอ่านตัวชี้วัดแต่ละข้อเสร็จ จะให้ทุกคนยกแผ่นป้ายคะแนนตามความคิดเห็นของตนในแต่ละประเด็นพร้อมกัน  ทีมงานจะแบ่งกันนับแผ่นป้าย อาจจะแยกตามคะแนน หรือตามสี เมื่อนับเสร็จจะนำค่าคะแนนมาเขียนลงตารางการให้คะแนนของตัวชี้วัดนั้น ๆ จากนั้นจะคิดค่าเฉลี่ยความสุขของตัวชี้วัดดังกล่าว ว่ามีค่าเฉลี่ยเท่าใด ข้อมูลที่กล่าวมาจะอยู่ในแผ่นตารางการให้คะแนนเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมองเห็นภาพได้ชัดเจนและเกิดความเข้าใจ ทำเช่นเดียวกันจนครบทุกตัวชี้วัด

๔. นำค่าเฉลี่ยที่ได้จากแต่ละตัวชี้วัดมาลงในแผนผังใยแมงมุม แล้วจึงใช้เชือกฟางสีสด ๆ มาดึงขึงเชื่อมแต่ละตัวชี้วัด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมองภาพความสุขมวลรวมของหมู่บ้านออกว่าในแค่ละด้าน แต่ละเรื่องเป็นอย่างไร และในฐานะที่กลุ่มเป้าหมายเป็นคนในหมู่บ้านนี้เรามาลองคิดร่วมกันว่า จะกำหนดแนวทาง หรือวิธีการการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมร่วมกันอย่างไร ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะได้แนวคิด วิธีการที่หลากหลาย และเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง

๕. นำค่าเฉลี่ยที่ได้ในทุกข้อ มาคิดเป็นค่าเฉลี่ยรวมให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ หลังจากนั้น คิดเทียบเป็นค่าร้อยละ แล้วจึงนำค่าร้อยละที่ได้ไปพล็อตลงบนปรอทวัดความสุขว่าอยู่ตรงจุดใด แล้วอ่านความหมายให้ฟัง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบว่า ณ วันนี้ความสุขมวลรวมของหมู่บ้านนี้เป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรความสุขมวลรวมจึงจะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

OfficeFolders theme by Themocracy