การแก้ไขปัญหาลูกหนี้ไม่อยากชำระหนี้

By admin, เดือนพฤศจิกายน 30, 2011

นางสุพิม พรหมแก้ว นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสารภี

“ เงินเป็นของร้อน ตกลงหิน หินอ้า “(แยก)
“ตกลงหญ้า หญ้าตาย”
เป็นคำพูดที่ผู้เขียนเคยได้ยินจากพัฒนากรรุ่นพี่ ซึ่งปัจจุบันย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นแล้ว พี่พัฒนากรท่านนี้ได้พูดให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารเงินกองทุนต่างๆ ในชุมชนว่า ต้องมีความละเอียด รอบคอบ ยิ่งเป็นเงินของราชการ เงินกองกลางของหมู่บ้าน เงินที่ไม่ใช่ของเราต้องระวังให้มาก ต้องมีการดำเนินงานที่ถูกต้อง ตามระเบียบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน และเกิดการเสียคนขึ้น จากประสบการณ์ที่ทำงานกับชุมชน ผู้เขียนพบว่า ผู้ที่ทำผิดพลาดในเรื่องเงินทุนในชุมชน ส่วนใหญ่จะเคยเป็นคนดีเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน จึงได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการดูแลเรื่องการเงินของหมู่บ้านแทบจะทุกกองทุน และอีกเช่นกันผู้ที่ทำให้กองทุนเสียหาย(ยักยอก) ก็มักจะพาตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นกรรมการดูแลการเงินของหมู่บ้านแทบทุกกองทุน เมื่อเกิดความเสียหายกับกองทุนใดกองทุนหนึ่งขึ้น ชาวบ้านก็จะเกิดอาการผวาว่ากองทุนอื่นๆ จะเป็นอย่างไร ? จะเหลือไหมหนอ…?
แต่ข้อดีของกองทุนชุมชนก็มีเยอะมาก นอกจากเป็นแหล่งทุนในชุมชนแล้ว
ยังเป็นการฝึกคน สร้างความสามัคคี ฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เกิดการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันของคณะกรรมการและชาวบ้านขึ้น ดังตัวอย่าง การแก้ไขปัญหาลูกหนี้ไม่อยากชำระหนี้ของกองทุนหมู่บ้านสันทรายท่าช้าง หมู่ที่ 1 และกองทุนหมู่บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 5 ตำบลสันทราย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
เรื่องราวมีอยู่ว่า มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านสันทรายท่าช้าง หมู่ที่ 1 ตำบลสันทราย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 19 คน ได้มาขอพบนายอำเภอสารภี เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยพูดเจรจาให้กรรมการกองทุนหมู่บ้านยอมผ่อนผันการชำระเงินกู้ เนื่องจากอุทกภัย น้ำท่วม ตอนนั้นผู้เขียนซึ่งเป็นพัฒนากรประสานตำบลไม่อยู่ พี่พัฒนากรที่อยู่สำนักงานฯ จึงขอให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานสำหรับให้ความช่วยเหลือต่อไป
ผู้เขียนและทีมงาน ได้นัดหมายและไปร่วมประชุมกับกรรมการกองทุนหมู่บ้าน สันทรายท่าช้าง หมู่ที่ 1 ต.สันทราย เพื่อค้นหาความจริง และชี้แจงวัตถุประสงค์ ระเบียบ แนวทางการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านให้กรรมการกองทุน จากการได้พูดคุยกับคณะกรรมการฯ ทำให้ทราบข้อมูลว่าบุคคลตามรายชื่อที่ขอความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ไม่ได้เดือดร้อนจากผลกระ ทบน้ำท่วม เพราะอาชีพที่นำเงินไปลงทุนไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำท่วม เช่น กู้เงินไปเลี้ยงสุกร และขอผ่อนผันเนื่องจากน้ำท่วมลำไย ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนเกิดอุทกภัย บางรายอ้างน้ำท่วมสวนลำไย ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีสวนลำไยเลย กรรมการฯ เป็นคนในพื้นที่ รู้ข้อมูลของสมาชิกทุกคนดี บางรายชื่อที่ร่วมร้องทุกข์ถูกแอบอ้าง เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่มองเห็นว่าเป็นปัญหาของคนกลุ่มใหญ่ กรรมการฯ เล่าให้ฟังว่าจริงๆแล้วปัญหาอยู่ที่ธนาคารออมสิน เพราะสมาชิกกองทุนฯที่กู้เงินธนาคารแล้ว ไม่ยอมชำระคืน เมื่อมีเงินผ่านบัญชี จะถูกหักทันที ทำให้ลูกหนี้กองทุนหมู่บ้านแล้วเกรงว่าหากตนเองชำระคืนแล้ว อยากจะกู้ยืมใหม่ อาจจะไม่ได้รับเงินเนื่องจากถูกธนาคารหักเงิน ทำให้ไม่อยากใช้หนี้เงินกองทุนหมู่บ้าน (สำหรับผู้เขียนมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากธนาคารออมสิน แต่เกิดจากวินัยทางการเงินของผู้กู้เงินมากกว่า) คณะกรรมการ กทบ.สันทรายท่าช้าง ได้เชิญเจ้าหน้าที่ฯ ร่วมประชุมสมาชิกกองทุนอีกครั้งในวันถัดไป โดยกรรมการจะขอปรึกษาหารือในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านอีกครั้งเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดอีกครั้งก่อนนำเข้าที่ประชุมสมาชิก กทบ.ในวันถัดไป
ในวันประชุมสมาชิก กทบ. กรรมการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยให้ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้มา พูดคุยกับกรรมการ โดยกรรมการได้ทำแบบสำรวจปัญหาความเดือดร้อน และกรรมการจะตรวจสอบในพื้นที่จริงทุกราย แต่การผ่อนผันครั้งนี้ จะส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของสมาชิกในการกู้เงินในครั้งต่อไป ซึ่งมติที่ประชุมยอมรับ เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายทั้งกรรมการ สมาชิก (รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้วยค่ะ)
ส่วนหมู่บ้านท่ามะขาม ก็มีปัญหาเรื่องลูกหนี้ขอผ่อนผัน เพราะน้ำท่วมเหมือนกัน จำนวน 37 ราย แต่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขกันเองในหมู่บ้าน โดยกรรมการกทบ. ได้ให้สมาชิกที่มีปัญหามาพบทีละคน โดยนำสัญญามาแสดงให้สมาชิกดู และสอบถามปัญหา เช่น ในสัญญาบอกว่ากู้เงินไปซื้อหมู เกิดอุทกภัยน้ำท่วมทำให้หมูตาย หรือหมูไหลน้ำสูญหาย หรือเปล่า ถ้าไม่แล้ว จะขอผ่อนผันทำไม ? สุดท้ายก็เสร็จกรรมการทุกราย ลูกหนี้ที่จงใจจะขอผ่อนชำระ นำเงินมาชำระหนี้จนครบ แหมผู้เขียนขอยกนิ้วให้กรรมการจริงๆ เยี่ยมมากๆ ค่ะ
สรุปประเมิน
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกองทุนในชุมชน ไม่ได้เกิดจาก ตัวเงิน ซึ่งเป็นวัตถุทึ่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง (แต่มักสูญหายเคลื่อนย้ายได้เองแบบไร้สาเหตุ) แต่เกิดจากบุคคลที่สร้างปัญหา ดังนั้น กฎระเบียบกองทุนฯ จึงมีความสำคัญมาก หากทุกคนในชุมชนถือปฏิบัติตามระเบียบที่ตั้งไว้ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ดังเช่น การอยู่ร่วมกันในสังคมคนหมู่มากต้องมีกฏหมายที่ทุกคนต้องรู้และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ขุมความรู้
วิธีการ/เทคนิคที่ใช้
1.กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
2.ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2551
3.การทำงานเป็นทีม

OfficeFolders theme by Themocracy