การแก้ไขปัญหาขยะชุมชน โดยการจัดตั้งกองทุนขยะบ้านต้นผึ้ง

By admin, เดือนตุลาคม 2, 2011

pic1
ชื่อเจ้าขององค์ความรู้                         นายวิชัย    เป็งเรือน
ตำแหน่ง                                       ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๗ ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด   จังหวัดเชียงใหม่
สังกัดกลุ่ม/องค์กร                            กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก             ๐๗๖-๑๙๑๗xxx
                  เนื่องจากที่ผ่านมาบ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ ๗ ประสบปัญหาการนำขยะและสิ่งปฏิกูลนำมาทิ้งภายในพื้นที่ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านทางผ่าน และปัญหาขยะภายในหมู่บ้านเองก็มีการจัดการที่ไม่เป็นระบบ ก่อให้เกิดปัญหาขยะทิ้งเรี่ยราดทั่วไปภายในหมู่บ้านและถนน และมีการเผาขยะซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นข้าพเจ้าเองเมื่อก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ดำรงวาระต่อจากพ่อของข้าพเจ้าที่หมดวาระลงไปและจัดให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาใหม่ และปรากฏว่ามีผู้สมัครเพียงคนเดียวก็คือข้าพเจ้า ตอนนั้นเป็นที่ฮือฮากันไปทั้งอำเภอและอำเภอใกล้เคียง เพราะว่าในขณะที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนั้น ข้าพเจ้าเองก็มีอายุเพียง ๒๕ ปี กับ ๔ วัน ซึ่งถือว่าอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยปรากฏ และก็เป็นที่คาดหวังของชาวบ้านที่จะเห็นผู้นำรุ่นใหม่ที่จะช่วยนำพาหมู่บ้านให้เจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุขและเป็นที่พึ่งของเขาได้ แต่ก็เป็นงานหนักมิใช่น้อยของข้าพเจ้าที่ต้องรับภาระนี้ในการสานต่องานต่างๆ ภายในหมู่บ้าน ด้วยวัยวุฒิที่ยังน้อยและขาดประสบการณ์แต่ก็ดีว่าได้พ่อเป็นผู้ให้คำแนะนำในการทำงานและอาศัยประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับชาวบ้านมา ซึ่งข้าพเจ้าก็พบมีบทบาทภายในหมู่บ้านบ้าง อาทิเช่น เป็นประธานกลุ่มเยาวชนและเหรัญญิกกองทุนหมู่บ้านมาตั้งปี พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมสำนักสงฆ์ต่างๆ เป็นแกนนำในการจัดทำแผนชุมชนของหมู่บ้าน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นต้องทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของพี่น้องประชาชนภายในหมู่บ้าน และต้องเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมกมานาน โดยข้าพเจ้าได้ทำควบคู่กันไปใน ๒ เรื่องที่เห็นว่าจำเป็นเร่งด่วน ประการแรกได้แก่ การแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนของหมู่บ้าน (ปัจจุบัน ได้จัดตั้งกลุ่มราษฎรอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนบ้านต้นผึ้งขึ้นและดำเนินการยื่นเรื่องขอขยายพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมในส่วนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขุนแม่กวงภายในหมู่บ้านทั้งหมด เพื่อง่ายต่อการดูแลและบริหารจัดการ เข้มงวดในการลาดตะเวนและให้ความรู้ถึงความสำคัญและประโยชน์ของป่าไม้ และมีการจัดทบทวนระเบียบการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนของหมู่บ้าน ปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าแล้ว ประการที่ ๒ ปัญหาเรื่องขยะภายในหมู่บ้าน ข้าพเจ้าก็ได้แก้ไขปัญหานี้โดย ประชุมประชาคมชาวบ้านเพื่อให้รับทราบปัญหาร่วมกัน ขอความร่วมมือให้ชาวบ้านงดทิ้งขยะเรี่ยราดและจัดเก็บให้เรียบร้อยให้เข้าร่วมโครงการที่ทางเทศบาลทำการจัดเก็บขยะมูลฝอย ให้ชาวบ้านทำการแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง เพื่อนำขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่เก็บไว้ และมีแนวคิดว่าขยะมือสองนั้นมีค่าสามารถแปลเป็นทุนได้ ดังนั้นจึงได้ก่อตั้งกองทุนขยะขึ้นมาโดยเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนเป็นหลัก เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ โดยแรกเริ่มนั้นไม่มีทุนในการดำเนินการก่อชวนเด็ก เยาวชน และชาวบ้านร่วมกันเก็บขยะภายในหมู่บ้านที่เรี่ยราดและที่มีอยู่ในแต่ละครัวเรือนมาร่วมกัน ส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว ฯลฯ ก็เอามารวมกับจัดตั้งกองทุนขยะนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า เริ่มแรกนั้นได้เงินประมาณ ๑,๘๐๐ บาท จากนั้นเยาวชนและชาวบ้านก็เห็นว่าขยะนั้นมีค่ายิ่งสามารถรวมกันและมีค่าเป็นเงินได้จำนวนไม่น้อย และต่อจากนั้นทางกองทุนขยะจึงเปิดรับซื้อขยะไปพร้อมกับการจัดทำกองทุนเยาวชนเพื่อการออมในทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน จนปัจจุบันขยะภายในหมู่บ้านลดลงไปมากจึงรับซื้อ ๒ เดือนครั้ง และเยาวชนส่วนใหญ่นำขยะมาขายก็จะนำเงินฝากในกองทุนเยาวชนเพื่อการออมเดือนละ ๒๐ บาท ปัจจุบันกองทุนขยะมีเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาดอยสะเก็ด ประมาณ ๖,๐๐๐ บาท ซึ่งความจริงแล้วมีมากกว่านี้เพราะว่าได้นำเงินรายได้ในส่วนนี้ไปทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์แก่หมู่บ้านด้วย อาทิเช่น มอบให้กองทุนสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน, จัดกิจกรรมวันเด็กของหมู่บ้าน และร่วมสมทบจัดงานรดน้ำ-ดำหัวผู้สูงอายุภายในหมู่บ้าน เป็นต้น และในส่วนของกองทุนเยาวชนเพื่อการออมนั้น กำหนดให้เยาวชนฝากประจำไว้ ๓ ปี ไม่ถอนคืน ปัจจุบันมีเงินฝากประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท ในส่วนขยะที่มีผู้คนนำมาทิ้งจากภายนอกนั้นได้ประกาศประชาสัมพันธ์จากศูนย์กระจายข่าวประจำหมู่บ้านเพื่อขอความร่วมมืองดนำมาทิ้งและให้ชาวบ้านช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องระวังคนที่นำขยะมาทิ้ง และก็ส่งหนังสือไปขอความร่วมมือจากผู้นำหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวน ๕ หมู่บ้านทั้งภายในตำบลและหมู่บ้านตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง ซึ่งเป็นเขตติดต่อให้ประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านตัวเองทราบ ว่าถ้าหากพบเห็นนำขยะมาทิ้งภายในหมู่บ้านต้นผึ้ง จะปรับและเรียกผู้นั้นไปคุยที่ทำการผู้ใหญ่บ้านของตนเองทุกรายไม่มีการลดหย่อนใดๆ ทั้งสิ้น และข้าพเจ้าจะปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างกับชาวบ้านโดยการออดเก็บขยะรอบหมู่บ้าน โดยการชวนเยวาชนและ อสม. ร่วมกันเก็บขยะภายในหมู่บ้าน หรือบางครั้งก็เก็บเองคนเดียวเลย ชาวบ้านและผู้คนทั่วไปที่เห็นก็คิดละอายใจแล้วว่า ผู้ใหญ่บ้านเขาเก็บขยะสองข้างทางถนนไปทิ้งแล้วเราเป็นคนทิ้งเองก็น่าละอายใจ ที่ผ่านมาถือได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะการตั้งกองทุนขยะหมู่บ้านขึ้นมา ได้ทั้ง เงิน ความสามัคคี เงินออมของเยาวชน และที่สำคัญจิตสำนึกในการเห็นคุณค่าของขยะที่บ้างคนคิดว่าไร้ค่า ยกตัวอย่างตอนนี้ถ้ามีงานอะไรก็ตามภายในหมู่บ้าน เช่น งานวัดหรืองานศพ ต่างๆ ขยะที่เคยทิ้งเรี่ยราดทั่วไป เช่น ขวดแก้ว ขวดน้ำพลาสติก ลังกระดาษ เป็นต้นไม่มีให้เห็นแล้วในกองขยะ เพราะเยาวชนหรือชาวบ้านจะเก็บกลับบ้านไปเพื่อนำมาขายให้กับกองทุนขยะ และในเดือนตุลาคมนี้ข้าพเจ้ามีแนวคิดที่จะ นำขยะมาแลกไข่แทนการแลกด้วยเงินแทน เพราะเห็นว่าชาวบ้านจะได้บริโภคไข่ ซึ่งมีประโยชน์ต่อคุณค่าทางร่างกายที่สูง กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ถ้าคิดให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าสนองตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักกินรู้จักใช้

วิธีการแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จ
ต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้าน ซึ่งในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดีและที่สำคัญต้องทำด้วยใจ ในครั้งนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้คิดวิธีการจัดการปัญหาขยะต่างๆ เหล่านี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้นำทั้งในการจัดทำกิจกรรมและผู้นำหมู่บ้าน ต้องใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ ทำด้วยใจ ถ้าทำอะไรแล้วขาดใจที่จะทำทุกอย่างก็ไม่สำเร็จหรือไม่ยั่งยืน ข้าพเจ้าเองใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ ถือแม่บ้างครั้งใครจะว่าเราบ้ามาเก็บขยะ ๒ ข้างทางถนนเองและเสียเวลากับการทำกองทุนขยะแทน แทนที่จะไปทำงานส่วนตัว ข้าพเจ้าไม่สนใจขอเพียงทำแล้วชุมชนได้ประโยชน์ก็พอ และชาวบ้านอยู่แบบพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริ

ทักษะและความรู้ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา
เรื่องแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เราต้องรู้จักอยู่แบบพอเพียง รู้จักกินรู้จักใช้ให้สมดุล เห็นและใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ให้มากที่สุด แล้วเราก็จะอยู่อย่างยั่งยืนและมีความสุขตลอดไป

บันทึกขุมความรู้ (นำเหตุการณ์ ประเด็น สำคัญในเนื้อเรื่องมาถอดเป็นขุมความรู้)
๑. ค้นปัญหาต่างๆ ให้พบเมื่อพบแล้วก็นำมาแก้ไข
๒. เน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวบ้านเป็นหลัก
๓. การให้ข้อมูลที่ตลอดและต่อเนื่องนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
๔. คิดอย่างสร้างสรรค์และคิดให้แปลกแนวบ้างและทำด้วยใจ
๕. ขยะนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งไร้ค่าแต่ที่จริงแล้วนั้นกลับมีค่ายิ่ง
๖. ถ้าคนเราไม่รู้จักพอเพียงและเห็นปัญหาร่วมกันก็คงไม่มีกองทุนขยะของหมู่บ้านขึ้นมา

แก่นความรู้ (Core Competency)
๑. ปัญหาทุกปัญหามีทางออก มีทางแก้ไข
๒. ความสามัคคีในหมู่คณะย่อมนำประโยชน์สุขมาให้
๓. ข้อมูลถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในการทำอะไรก็ตาม
๔. คิดแหวกแนวแบบใหม่ เป็นการหลุดพ้นความจำเจเดิมๆ แต่ก็ใช่ว่าจะทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่น
๕. ขยะถึงแม้จะดูไร้ค่า แต่มันมีค่ายิ่งในตัวมัน ถ้าเรามองเห็นค่าของมันได้
๖. พลิกใจพอเพียงแล้วชีวิต หมู่บ้าน ชุมชน ประเทศชาติ และโลกเราจะมีความสุข

กลยุทธ์ในการทำงาน (นำแก่นความรู้มากำหนดเป็นกลยุทธ์ในการทำงาน)
๑. ร่วมกันค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อได้แล้วก็หาสาเหตุต้นตอของปัญหาและนำไปสู่กระบวนการปรึกษาหารือร่วมกันทุกฝ่าย (หลายความคิดระดมกันย่อมดีกล่าวความคิดเดียว) แล้วนำไปสู่การแก้ไข
๒. เมื่อจะกระทำสิ่งใดเป็นหมู่คณะนั้นย่อมต้องอาศัยความรักสมัครสมานสามัคคีเป็นหลัก ถือว่าเป็นหัวใจของการทำงานเป็นหมู่คณะ เมื่อมีความสามัคคีแล้วทำอะไรก็ประสบผลสำเร็จ
๓. นำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้มากที่สุดพร้อมกับไม่หยุดที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม
๔. เปิดใจให้กว้าง คิดให้ไกล อย่าคิดเพียงแต่รอบตัว มองไปให้ไกล เอาความรู้และประสบการณ์ที่คนอื่นมีอยู่มาปรับใช้ คิดอย่างสร้างสรรค์ปราศจากอคติ
๕. ขยะที่มีอยู่ทั่วไปมีคุณค่าในตัวของมัน นำกลับมาใช้ใหม่ได้ สามารถเป็นสินทรัพย์ให้เป็นทุนและรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้
๖. ทำอะไรให้ตั้งมั่นบนความพอเพียงแล้วสิ่งนั้นจะสำเร็จและยั่งยืน

กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องสามารถอ้างอิงได้
๑. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๒. ปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ”ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
๓. โครงการขยะแห้งแลกไข่ของ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์

OfficeFolders theme by Themocracy