ต้นทุนการผลิตและอาหารปลอดภัย

By admin, เดือนสิงหาคม 3, 2011

แบบบันทึกองค์ความรู้ 

 

ชื่อ – นามสกุล                                         นายเจริญ  ยกคำจู
ตำแหน่ง                                                 ประธานศูนย์เรียนรู้บ้านโพธิ์ทองเจริญ
เบอร์โทรที่สามารถติดต่อได้                 086-1893655
ชื่อเรื่อง                                                   เกษตรอินทรีย์
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ                  ต้นทุนการผลิตและอาหารปลอดภัย
สถานที่เกิดเหตุการณ์                             บ้านโพธิ์ทองเจริญ หมู่ที่ 2 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

                กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโพธิ์ทองเจริญ หมู่ที่ 2 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางกการเมื่อปี 2549 โดยนายเจริญยกคำจู เกษตรกรนาเช่า บ้านโพธิ์ทองเจริญจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโพธิ์ทองเจริญ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อผลิตพืชผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี ให้สมาชิกกลุ่มฯ บริโภคและลดรายจ่ายในครัวเรือนโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 25 ครอบครัว
                ความเป็นมาในการก่อตั้ง บ้านโพธิ์ทองเจริญ ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวน 370 ครอบครัว ประชากร 1,260 คน เป็นชุมชนบทเขตชานเมือง อยู่ห่างจากอำเภอดอยสะเก็ดประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 15 กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบมีลำน้ำกวงไหลผ่าน ที่ดินเพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาที่อยู่ในเขตชลประทานของเขื่อน แม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีน้ำเพาะปลูกได้ตลอดปี การประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่จำแนกได้ดังนี้ คือ ประมาณร้อยละ 30 ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวจัดเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ประมาณร้อยละ 5 ประกอบอาชีพรับราชการ ประมาณร้อยละ 30 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนา โดยแยกเป็นร้อยละ 5 มีที่นาเป็นของตนเอง ส่วนที่เหลือเป็นเกษตรกรนาเช่าที่เช่านาของบุคคลนอกชุมชน และส่วนที่เหลือมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ฐานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้านมีส่วนน้อยที่มีฐานะค่อนข้างดี ซึ่งได้แก่ กลุ่มที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวและเกษตรกรที่มีที่นาเป็นของตัวเอง แต่ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน ไม่มีหนี้สิน
               อาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้านโพธิ์ทองเจริญเป็นการเกษตรที่มุ่งผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนควบคู่ไปกับการผลิตเพื่อจำหน่าย คือเก็บผลผลิตส่วนหนึ่งไว้บริโภคและขายในส่วนที่เหลือ โดยทำการเพาะปลูกปีละ 2 ครั้ง พืชหลักที่ปลูกได้แก่ ข้าว แต่บางครั้งก็ปลูกพืชชนิดอื่น เป็นพืชเศรษฐกิจแทนการปลูกข้าว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแระ ดอกไม้ หรือพืชผักอื่นๆ เปลี่ยนไปมาไม่แน่นอน ซึ่งแบบแผนการเพาะปลูกก็เป็นแบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ คือ มีการใช้ปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลงในแปลงพืชเป็นกระบวนการผลิตตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่มาก แบบแผนการเพาะปลูกดังกล่าว จึงเป็นการเกษตรที่ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตสูงทำให้ในบางฤดูการเก็บเกี่ยวบางปีได้กำไรน้อยและขาดทุน รวมทั้งยังมีการตกค้างของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองและผู้บริโภคอีกด้วย แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลี่ยง เพราะการเกษตรแบบใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงเป็นแบบแผนการเพาะปลูกที่ชาวบ้านแถบนี้ทำกันมาช้านานแล้ว และถ้าไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง
           การเพาะปลูกก็จะได้ผลผลิตน้อย ซึ่งนาย เจริญ ยกคำจูเกษตรกรนาเช่าบ้านโพธิ์ทองเจริญก็เป็นผู้หนึ่งที่เคยทำการเพาะปลูกด้วยวิธีดังกล่าวและได้เรียกวิธีการเพาะปลูกดังกล่าวว่า “เกษตรเคมี”   ขณะเดียวกันจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมา ทำให้นายเจริญ ยกคำจูตระหนักดีว่าการเพาะปลูกแบบ “เกษตรเคมี” ที่พวกเขาทำอยู่นี้เป็นทางตันที่จะพบกับความร่ำรวยและลดภาระหนี้สินให้กับตนเอง
           ซึ่งโดยข้อเท็จจริงนั้นการเกษตรแบบพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาแทรกแทรงระบบการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตในชนบท ทำให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาสูญเสียอำนาจในการต่อรอง และไม่เคยได้รับความยุติธรรมในการทำสัญญาเช่านาและการขายผลผลิต ที่ดินเริ่มตกอยู่ในมือของผู้มีเงินในเมือง พ่อค้านายทุนเงินกู้และนักอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากพิษของสารเคมีเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย แต่ก็เห็นว่าการเพาะปลูกเป็นสิ่งจำเป็นหยุดไม่ได้เพราะเป็นการผลิตอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัวถ้าไม่ปลูกก็ไม่มีกิน จึงได้แต่หวังว่าวันหนึ่งคงหาทางออกได้ ส่วนประสบการณ์เฉพาะตัวที่สร้างความตระหนักถึงความตันของ “เกษตรเคมี” ให้แก่นายเจริญ ยกคำจู มีหลายกรณีได้แก่ ความไม่คุ้มค่าในการลงทุน โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็นเกษตรกรนาเช่าเคยทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายของในเมืองเชียงใหม่มาก่อนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี และได้มีโอกาสเป็นผู้จัดการดูแลสวนผลไม้ขนาดใหญ่ของนายจ้างที่วางระบบการจัดการตามหลักวิชาการเกษตรแผนใหม่ที่ประกอบด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การให้น้ำให้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง มีตารางการปฏิบัติงานอย่างแน่นอนสม่ำเสมอ ผลผลิตที่ได้ขายได้เป็นเงินนับแสนต่อปี แต่ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนหลายหมื่นบาทต่อเดือนด้วยเช่นกันซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันดูแล้วนายเจริญ ยกคำจู เห็นว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าและยังมีความเสี่ยงสูงจากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนและปัญหาสุขภาพจากสารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูกอีกด้วย
           เมื่อลาออกจากการเป็นลูกจ้างร้านขายของในเมืองมาเป็นเกษตรกรนาเช่า ทำนาปลูกข้าวขายเป็นอาชีพหลัก นายเจริญ ยกคำจู ได้กำไรจากการปลูกข้าวขายในครั้งแรกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นซึ่งนายเจริญ ได้อธิบายว่าปีนั้นค่าแรงงานถูก แต่หลังจากนั้นต้องอาศัยรายได้จากการปลูกพืชเสริม เพื่อชดเชยรายได้จากการปลูกข้าวขายตลอดมาและยังพบว่ายิ่งทำนามากเท่าไรก็ยิ่งขาดทุนและเพิ่มหนี้สินมากขึ้นเท่านั้น
           ปัญหาด้านสุขภาพ ญาติต่างอำเภอของนายเจริญ ยกคำจู หลายคนที่ประกอบอาชีพทำสวนมะม่วงต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งจากสารเคมีตกค้างในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตูมาจากการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในสวนมะม่วงเป็นระยะเวลานานติดต่อกันหลายปี และในปี 2535 นายเจริญ ยกคำจู ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เข้ารับการอบรมศึกษาดูงานตามโครงการต่างๆ ของหน่วยงานราชการในพื้นที่หลายหน่วยงาน เช่น สาธารณสุข ปศุสัตว์ ประมง กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตร สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอดอยสะเก็ด และสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์การใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มากมายโดยเฉพาะโครงการหมอดินอาสาของสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ กรมพัฒนาที่ดิน ที่ให้ความรู้เรื่องดินและสารอินทรีย์ที่ใช้ในการเกษตรตามแนวทาง “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งนายเจริญ ยกคำจู ได้นำมาทดลองปฏิบัติในแปลงนาเช่าของตนเองเป็นเวลาหลายปีและได้มีการประยุกต์ปรับปรุงแก้ไขจนบังเกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอนและมีความมั่นใจว่าการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์นั้นเป็นสิ่งเป็นไปได้คือการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี แต่หันมาใช้ปุ๋ยและสารป้องกันแมลงที่เป็นสารอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ พืชที่เพาะปลูกก็สามารถเจริญเติบโตงอกงามให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี ผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัยปราศจากสารเคมี 100% สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้นายเจริญ ยกคำจูยังได้พัฒนาเทคนิคการปลูกพืชผักในสภาพที่มีอากาศแห้งแล้งได้ผลเป็นที่น่าพอใจอีกด้วย ทำให้มีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์นั้นสามารถสร้างสมดุลคืนให้กับ ดิน น้ำ และสภาพอากาศอีกทางหนึ่งด้วย
            การก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เมื่อมีความมั่นใจว่า “เกษตรอินทรีย์” เป็นการเกษตรที่เป็นไปได้ จึงได้ชักชวนสมาชิกในหมู่บ้านที่สนใจมาทำการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อผลิตพืชผักที่ปลอดภัยบริโภคในครัวเรือนและลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่มีราคาสูง อันเป็นหลักการพึ่งตนเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้ทำเป็นตัวอย่างและประสบความสำเร็จ จนมีสมาชิกในหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไปจำนวน 18 ราย มาร่วมเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนายเจริญ ยกคำจู ได้แบ่งพื้นที่รกร้างซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้มาหลายปี โดยแบ่งพื้นที่ให้ทำการเพาะปลูกรายละ 200 ตารางวา ปลูกผักสวนครัวหลากชนิดพร้อมทั้งยังถ่ายทอดเทคนิควิธีการเพาะปลูก การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหาร วัตถุดิบธรรมชาติและการทำสารไล่แมลงจากพืชเพื่อนำมาใช้ในแปลงผัก จนสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มมีความรู้ความเข้าใจการปลูกพืชผักแบบ “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งสามารถปลูกพืชผักได้อย่างมีคุณภาพและยังมีการขยายการเกษตรแบบ “เกษตรอินทรีย์” จากแปลงพืชผักไปสู่แปลงนาข้าวอย่างได้ผลไม่ด้อยไปกว่าการเกษตรแบบ “เกษตรเคมี”

OfficeFolders theme by Themocracy