กลุ่มทอผ้าจก บ้านชั่ง (แปลง 8)

By admin, เดือนมิถุนายน 14, 2011

บันทึกองค์ความรู้ (KM)

กลุ่มทอผ้าจก บ้านชั่ง (แปลง 8)

หมู่ที่  2  ตำบลท่าเดื่อ

อำเภอดอยเต่า  จังหวัดเชียงใหม่


ชื่อความรู้ การส่งเสริมการทอผ้าอาชีพเสริมหลังจากว่างเว้นจากการทำนา

เจ้าของความรู้ นางนิตยา  ปัญญามี

ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ

เนื้อเรื่อง

การทอผ้าวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้านแปลง  8  สตรีแม่บ้านเมื่อว่างเว้นจากการทำนา ทำสวน ก็จะทอผ้า แทบทุกใต้ถุนบ้านจะมี กี่ ที่ใช้สำหรับทอผ้าอยู่เสมอ แต่ก็เพื่อที่จะทอไว้ใช้ในวิตประจำวันเท่านั้น มีการทอผ้ากันทุกครัวเรือน เนื่องจากแต่เดิมไม่มีเสื้อผ้าขาย  ต้องทอด้วยกี่  โดยผ้าที่ทอ คือ เสื้อ  และผ้าถุง  ผ้าห่ม  ที่นอนสตรีไม่ต้องออกไปทำมาหากินนอกบ้านหน้าที่เฝ้าบ้าน  หุงหาอาหาร จึงมีเวลาว่างมากมายที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอของตนเองให้แลดูสวยงาม  สมัยก่อนจะดูแลเสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม  โดยเย็บผ้าเอง  ทอเสื้อผ้าใส่เอง ไม่มีจักรเย็บผ้า ต้องเย็บด้วยมือ ใช้เข็มอย่างเดียว  ขณะที่ฝ่ายชาย  มีหน้าที่ออกไปเดินป่าล่าสัตว์  ทำนา ทำไร่ ทำสวน เนื่องจากห่างไกลความเจริญ  ประจวบกับในหมู่บ้านมีวัตถุดิบในการผลิต  คือ ต้นฝ้าย   ซึ่งสามารถเพาะปลูกไว้ใช้เอง จึงจำต้องทอผ้าไว้ใช้เองในครัวเรือน โดยการทอผ้าด้วยกี่

เรื่องเล่า

ชาวบ้านแปลง 8  เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความผูกพันกันทางเชื้อชาติ มีการรวมกลุ่ม มีความรักความสามัคคี   มีความเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่  ซึ่งกันและกัน  ดำรงชีพอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข   มีการแบ่งบันในเรื่องอาหารการกิน  เงินในสมัยก่อนไม่มีค่าเหมือนปัจจุบันเวลาจะซื้อของกินของใช้    จะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกัน  เสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม  จึงต้องทอเอง     เพราะวัตถุดิบธรรมชาติมีมากมาย       สตรีแม่บ้านจึงปลูกต้นฝ้าย     เพื่อนำมาทอเป็นผืนผ้าสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอพื้นเมือง คือ ลวดลายของผ้าจะมีไม่มากนัก เช่น ลายเกร็ดเต่า ลายดอกกวัก ลายสอง ลายดี ลายยกปะ   ลายผ้าไกล   ส่วนผ้าที่มาทำเป็นผ้าซิ่น   (ผ้าถุงสำหรับผู้หญิงของภาคเหนือ)   มีลายตีจก

(จะสวมใส่เฉพาะมีงานเทศกาลต่าง ๆ เท่านั้น เนื่องจากมีการทอที่ยากต้องใช้เวลานานในการทอ) ผ้าซิ่นตาซิว  ผ้าซิ่นป้องตาใหญ่ผ้าซิ่นป้อง  ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม  คือ ลายยกปะ เสื้อที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านแปลง 8 คือ เสื้อหม้อห่อม เสื้อคอปก เสื้อคอเฮง ผ้าถุง  กางเกงสะดอ จะมีสีดำ และสีขาวเท่านั้น

ขุนความรู้

ชาวบ้านแปลง 8 เป็นสังคมแห่งความเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จึงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บุตรทราบ  และเพื่อนบ้านมาโดยตลอด   นับเป็นการส่งเสริมและสืบสานผลิตภัณฑ์   ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า   มีการจำหน่ายไปข้างนอก   ปัจจุบันสามารถพัฒนาลวดลายคิดค้นปรับปรุงลายผ้า  และสีสันของผ้า โดยการทดสอบสีจากเปลือกไม้ และพืชสมุนไพรต่าง ๆ จนได้สีธรรมชาติที่สวยงาม โดยนำมาตัดเย็บให้เป็นแบบใหม่ เช่น การนำไปตัดเย็บเป็น เสื้อ  ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ย่ามกระเป๋า จานรองแก้ว  ผ้ารองจาน จึงมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสิ่งประดิษฐ์ที่สวยงาม  เกิดรายได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน  มีการส่งสินค้าออกไปยังต่างจังหวัด มีสมาชิกกลุ่ม ทั้งหมด 50 คน ผ้าที่ออกจำหน่ายเป็นผืนในราคา เมตรละ 120 บาท

การทอผ้า

มีเอกลักษณ์ ลวดลาย ที่สะท้อนความเป็นชุมชน

การทอผ้าพื้นเมือง โดยใช้สีธรรมชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านแปลง 8   คือความเป็น
พื้นบ้านของลวดลายและสีสัน ความมีคุณภาพทุกเส้นไยของฝ้าย และสิ่งที่เป็นความภาคภูมิ ใจของชาวบ้านแปลง 8 คือลายของผ้า โดยเฉพาะลายยกปะ

วัตถุดิบ

วัตถุดิบกับทรัพยากรในท้องถิ่น

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตราคาถูก/หาง่ายเนื่องจากสามารถผลิตได้ในท้องถิ่น

1. ฝ้าย  ต้นฝ้ายปลูกในทั่วทุกภาคของประเทศไทย  ปลูกได้ทุกฤดูกาล ระยะเวลาในการเพาะปลูก  ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ใช้เวลา  3  เดือน ไม่ส่งผลเสียต่อความอุดมสมบูรณ์ของต้น ไม่มีพิษภัยต่อมนุษย์

2. วัสดุธรรมชาติ  ที่นำมาใช้ย้อมสี  หาได้ง่ายในพื้นที่ และมีราคาถูก  เช่น  ขนุน ขมิ้น ข่า

ขึ้เหล็ก  ดอกอัญชัน  ประดู่ เพกา  ไม้สล้าง ไม้ประดู่ ไม้ป้าง กาบมะพร้าว  ต้นคราม  มาย้อมให้มีสีสันสีที่ได้เป็นสีที่ได้จากการย้อมสีธรรมชาติ

วัตถุดิบสะท้อนความเป็นภูมิปัญญา

วัสดุธรรมชาติที่นำมาย้อมสี  ส่วนใหญ่  เป็นพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวันของชาวบ้านแปลง 8 ตัวอย่างเช่น ขนุน ขมิ้น ข่า ขี้เหล็ก ดอกอัญชัน ประดู่ เพกา ไม้สร้าง ไม้ประดู่ ไม้ป้าง กาบมะพร้าว ต้นคราม  นำมาคัดน้ำย้อมสีผ้าจนมีสีสันลวดลายต่าง ๆ จนสืบต่อมา ปัจจุบันมีการพัฒนาฝีมือ โดยใช้อุปกรณ์สมัยใหม่ มีลวดลาย สีสัน มีการประยุกต์ลายใหม่ ๆ มากขึ้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความละเอียดในการถักทอ

องค์ประกอบของการทอผ้า

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองบ้านแปลง 8  เริ่มต้นจากการทำไว้ใช้ในครัวเรือน ต่อมาได้รับการส่งเสริม  สนับสนุนจากส่วนราชการต่าง ๆ  อาทิ     เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ มีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยจากเดิมนำผ้าทอมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม  และกระเป๋า  ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากผ้าทอที่หลากหลาย  ได้แก่ ผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมตู้เย็น ถุงย่าม กระเป๋า ที่เก็บซองจดหมาย ตุง  ที่รองจาน เสื้อ ผ้าถุง ฯลฯ

กระบวนการผลิต

1  วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต

1.1 ดอกฝ้าย

1.2 หม้อ ฟืน สำหรับใช้ย้อมสีผ้า

1.3 เมล็ดพืช หรือเปลือกไม้ที่ต้องการจะให้สีที่กำหนด

2 อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอ

  1. กี่สำหรับทอผ้า
  2. อีดฝ้าย เป็นอุปกรณ์สำหรับการแยกเมล็ดฝ้าย
  3. ก๋งยิงฝ้าย เป็นอุปกรณ์สำหรับดีดปุยฝ้ายที่ผ่านการแยกเมล็ดแล้ว
  4. เผี่ยน เป็นอุปกรณ์ในการปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย
  5. เปี๋ย เป็นอุปกรณ์สำหรับพันเส้นด้ายออกจากเผี่ยน
  6. ฟื่ม เป็นอุปกรณ์สำหรับการเรียงเส้นด้ายเพื่อทอ
  7. กระสวย สำหรับทอพุ่งเส้นด้าย

ขั้นตอนหรือวิธีการผลิต

  1. เตรียมฝ้ายที่จะทอ
  2. ต้นสีธรรมชาติจากวัสดุธรรมชาติให้ได้สีตามต้องการ
  3. นำฝ้ายที่เตรียมไว้ไปย้อม
  4. นำฝ้ายที่ย้อมแล้วไปผึ่งให้แห้ง

5.   นำฝ้ายไปทอตามลวดลาย

การพัฒนากระบวนการผลิตจากอดีตถึงปัจจุบัน

ได้ทำการพัฒนาหมู่บ้านที่ยั่งยืนด้านการนำหัตกรรมผ้าทอมาประยุกต์เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้าก่อให้เกิดรายได้เสริม และนำมาสู่รายได้หลักของหมู่บ้านในที่สุด เริ่มต้นจาก ทำไว้ใช้ในครัวเรือน

มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มอาชีพทอผ้าพื้นเมืองแบบทอด้วยกี่ สมาชิกก่อตั้ง 10 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 30 คน โดยการสนับสนุน นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพลจังหวัดเชียงใหม่ (ดอยเต่า) สนับสนุนทุนดำเนินการ  80,000 บาท ปี 2544 และสำนักงานเทศบาลตำบลท่าเดื่อ  สนับสนุนทุนดำเนินการ 30,000 บาท

image006image009

ผลงานดีเด่น

-          ได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับจังหวัด ประจำปี 2546 ระดับ 3 ดาว ประเภท ผ้าและเครื่องแต่งกาย

-          ได้รับเกียรติจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในการเผยแพร่ผ้าอำเภอดอยเต่า ในคอลัมภ์ เปิดหูเปิดตา การศึกษานอกโรงเรียน หัวข้อ “ผ้าตีนจก” ดอยเต่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2543

-          ได้เผยแพร่ผลงานผ้าทอพื้นเมือง ในสารสัมพันธ์ สะเลียมหวานของโรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับที่ 11 ประจำเดือน พฤษภาคม 2545- ตุลาคม 2545 จำนวน 2,000 เล่ม

-          เป็นครูสอนวิชาการทอผ้าจกให้นักเรียนโรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม

-          การใช้เทคโนโลยีการผลิต  มีการใช้ไม้ยกให้มีลวดลายสวยงาม มีการพัฒนาด้านฝีมือ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ประโยชน์

1. ได้อนุรักษ์ และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น

2. สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

3. เกิดการใช้เวลาว่างในการสร้างรายได้เสริมนอกจากการทำสวนลำไย และทำนา

4. เป็นการเผยแพร่ศิลปะวัฒธรรมท้องถิ่นให้คนทั่วไปได้เห็นคุณค่าต่อการดำรงชีวิต

5. แสดงให้เป็นว่าศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านก็สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวได้

6. เป็นการขยายตลาดผ้าทอมือพื้นบ้านให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

รูปแบบหรือประเภทผลิตภัณฑ์ (เอกลักษณ์หรือจุดเด่นผลิตภัณฑ์)

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองลวดลายโบราณ มีความแตกต่างจากผ้าทอพื้นเมืองทั่วไป กล่าวคือ ผ้าทอยกปะ ทอด้วยกี่ เหมือนผ้าทอทั่วไป แต่เป็นผ้าทอมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านแปลง 8

คุณภาพมาตรฐาน

ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น ปราณีตสวยงาม มีสีสันลวดลาย เป็นเอกลักษณ์ ของชาวบ้านแปลง 8

image010image013image014

ภาคีพัฒนากลุ่ม

ประกอบด้วย

-          ชาวบ้าน

-          สมาชิกกลุ่ม

-          ปราชญ์ชาวบ้าน (นายอินตา  เปี้ยตั๋น, นายจันทร์ตา  ยานะ, นายวาด  วรรณดี)

-          ตัวแทน อบต.

-          สถาบันการศึกษา

-          พัฒนาชุมชน

-          ปลัดอำเภอฯ

-          กศน.

-

แก่นความรู้

  1. แสวงหาความรู้จากเวทีประชาคมจากการเล่าเรื่องของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน
  2. วิทยากรจากผู้มีประสบการณ์จากพื้นบ้านมาถ่ายทอดความรู้
  3. ทีมงานภาคีการพัฒนาร่วมจัดเวทีประชาคม

image016image018

OfficeFolders theme by Themocracy