เสร็จเสียทีกับการบันทึกข้อมูล จปฐ.(ฝาง)

By admin, เดือนกรกฎาคม 22, 2010

image002

แบบบันทึกองค์ความรู้

ชื่อ – นามสกุล              นางนงนุช  วาสิการ

ตำแหน่ง            เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนชำนาญงาน

สังกัด               สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก     08-xxxxxxxx

ชื่อเรื่อง                เสร็จเสียทีกับการบันทึกข้อมูล จปฐ.

เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ        ความล่าช้าในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูล จปฐ.

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ                ประมาณเดือน มีนาคม 2553

สถานที่                     อำเภอฝาง   จังหวัดเชียงใหม่

เนื้อเรื่อง

                                ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา “พัฒนาการอำเภอ” ให้รับผิดชอบประสานงานการดำเนินงาน ติดตาม ให้การสนับสนุน ตำบลเวียง และตำบลสันทราย รวมจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 37 หมู่บ้าน ในฐานะพัฒนากรผู้ประสานงานตำบล จึงต้องมีหน้าที่ประสานงาน สนับสนุนให้ความช่วยเหลือกิจกรรมงานของพัฒนาชุมชนทุกกิจกรรม รวมถึงการสำรวจและประมวลผลข้อมูล จปฐ.ซึ่งสำรวจทุกปี

                                วิธีการทำงานของข้าพเจ้าจะเรียงลำดับงานสำคัญเร่งด่วนก่อน และงานที่ต้องส่งก่อนหลังตามลำดับ กิจกรรมบางกิจกรรมก็ต้องเตรียมการล่วงหน้า บางเรื่องก็ต้องทุ่มเทเสียสละเวลาพักผ่อนด้วยเงื่อนไขของเวลาที่จังหวัดกำหนดให้ต้องส่งภายในวันที่เท่านั้นเท่านี้ ก็ต้องปฏิบัติกันไปตามเงื่อนไข อาจมีการล่าช้าบ้างเนื่องจากการปฏิบัติงานในพื้นที่จะต้องเน้นเรื่องการให้บริการประชาชนโดยเฉพาะเรื่องข้อมูลและงานที่หน่วยงานอื่น ๆ มีหนังสือแจ้งให้เข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องบูรณาการงานร่วมกัน เรื่องงานสำรวจและบันทึกข้อมูล จปฐ. ก็เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าจะติดตามการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ทั้งการไปติดตามการดำเนินงานด้วยตนเอง แต่บางช่วงเวลาที่ต้องรายงานผลการดำเนินงาน ติดประชุมสัมมนาบ้าง เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์บ้าง เพราะสะดวกรวดเร็ว แต่ถ้าใช้สื่อเทคโนโลยีมากเกินไปเราก็จะไม่ได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำ/ชุมชน เรื่องการติดตาม จปฐ.ต้องยอมรับตรง ๆ เลยว่าเป็นเรื่องที่อึดอัดใจมากเนื่องจากทางกรมการพัฒนาชุมชนของบสนับสนุน

งบประมาณการสำรวจข้อมูล จปฐ.จาก อบต. นอกจากขอสนับสนุนงบประมาณแล้วยังให้บุคคลากรของท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการบันทีกข้อมูล จปฐ.ให้พัฒนาชุมชนด้วย ขณะที่เราไปติดตามงานทางเจ้าหน้าที่ที่บันทึกข้อมูลส่วนใหญ่มักไม่เห็นความสำคัญของข้อมูล ไม่สนใจหรือใส่ใจในงานบันทึกและติดตามแบบสำรวจจากหมู่บ้านเท่าที่ควร ข้าพเจ้าต้องคอยสอบถามว่ามีอะไรให้ช่วยเหลือบ้างไหม และพร้อมจะช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการติดตามทวงถามเล่มจากอาสาจัดเก็บฯ ประสานผู้นำให้ช่วยดูแล และช่วยเหลือในเรื่องการบันทึกข้อมูล จปฐ. ในห้วงเวลาอันจำกัด เวลาไปติดตามงานทางเจ้าหน้าที่ อบต.จะไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ มีข้ออ้างสารพัด อ้างว่าไม่มีเวลา มีงานประจำมาก ไม่มีคนคีย์ข้อมูลบ้าง  คนที่บันทึกข้อมูลติดต่อไม่ได้ไม่รับโทรศัพท์บ้าง แต่งงานใหม่บ้าง ไปต่างจังหวัดบ้าง มีงานศพพ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตรสหาย สารพัดเหตุผล ข้าพเจ้ารับฟังเหตุผลด้วยความอดทนซ่อนความวิตกกังวลอยู่ภายใน รู้สึกเหนื่อยเหมือนคนวิ่งมาราธอนอย่างไงอย่างงั้น  “พร้อมช่วยเหลือ”โดยการนำเล่มที่สำรวจข้อมูลไปบันทึกเองโดยไม่คำนึงถึงเวลาหลับเวลานอน  ให้หน่วยงานข้างเคียงช่วยเหลือ ประสานท่านนายก อบต.ทั้งสองตำบลช่วยกำกับดูแล ให้นักศึกษาฝึกงานช่วย ข้าพเจ้าโชคดีที่ทุกคนรอบข้างพร้อมช่วยเหลือด้วยความจริงใจ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ อบต.ไม่ให้ความสำคัญไม่ใส่ใจที่จะทำงานอย่างจริงจัง แต่น่าแปลกเขาไม่รู้สึกระอายใจบ้างเลย เรื่องค่าตอบแทนไวมากเหมือนปรอทตลกจริง ๆ  ในที่สุดการบันทีกและประมวลผลข้อมูล จปฐ.ทั้งสองตำบลก็เสร็จสิ้นด้วยความทุ่มเทร่วมแรงร่วมใจร่วมด้วยช่วยกัน สรุปผลการบันทึกและประมวลผล ตำบลเวียง จำนวน 20 หมู่บ้าน จำนวน 2,605 ครัวเรือน ตำบลสันทราย จำนวน 2,570 ครัวเรือน รู้สึกโล่งและผ่อนคลาย หลังจากที่เครียดมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge  Assets)

- ไม่ให้ความสำคัญกับงานที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติ เพราะไม่มีแรงจูงใจ

-ความล่าช้าของเล่มที่ทางอาสาจัดเก็บนำมาส่ง อบต. ล่าช้า ข้อมูลไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน ทำให้ต้องส่งเล่มสำรวจกลับคืน

- มีความรู้สึกว่า จปฐ.เป็นของพัฒนาชุมชน ไม่ใช่งานหลัก  ไม่ทำก็ได้ (แต่เงินจะเอา )              

- มีงานประจำที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำวัน 

-ความรู้สึกไม่เป็นเอกเทศ (สังกัด อบต.ไม่ใช่สังกัดอำเภอ/พัฒนาชุมชน) 

แก่นความรู้ (Core Competencies)

-ศึกษาปัญหา  รับทราบข้อมูล

-ปรึกษาหารือ

-สนับสนุนชี้แนะ

-หาข้อยุติ

-ชี้แจงด้วยความสุขุม รอบคอบเป็นธรรมและเป็นมิตร

-สร้างความพึงพอใจ

-งานสัมฤทธิ์ผล  รู้สึกเป็นสุข                               

กลยุทธ์ในการทำงาน

1.ปรึกษาหารือร่วมกับพัฒนาการอำเภอ คณะกรรมดำเนินการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ระดับอำเภอ หาแนวทางแก้ไขปัญหา

2.สนับสนุนชี้แนะการดำเนินงานแก่คณะทำงานทุกระดับ

3.หาข้อยุติและชี้แจงด้วยความสุขุม  รอบคอบเป็นธรรมและเป็นมิตร  โดยการรับฟังทุกข้อคิดเห็นแล้วขออนุญาตชี้แจงข้อเท็จจริงและ  แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตามระเบียบ

4.สร้างความพึงพอใจ  เมื่อได้รับฟังข้อเท็จจริงแล้ว  ทุกคนเข้าใจและยอมยุติข้อข้องใจ เนื่องจากได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน  โดยทราบว่าข้อมูล จปฐ.ไม่ได้เป็นของพัฒนาชุมชนเพียงหน่วยงานเดียว ชี้ให้เหตุถึงประโยชน์ของข้อมูล จปฐ.

5.งานสัมฤทธิ์ผล  รู้สึกเป็นสุข   เมื่อสามารถคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและทุกฝ่ายมีความเข้าใจ  พึงพอใจในแนวทางแก้ไขที่ได้มีมติร่วมกัน  ก็ทำให้เรารู้สึกดีใจและเป็นสุขไปด้วย

***********************

OfficeFolders theme by Themocracy