ของบประมาณช่วยบ้านผมหน่อย

By admin, เดือนกรกฎาคม 28, 2010

แบบบันทึกองค์ความรู้

image001

ชื่อ – นามสกุล   นางจีรวัฒน์   สติคำ

ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

สังกัด  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่

เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก     081-1113107

ชื่อเรื่อง    ของบประมาณช่วยบ้านผมหน่อย

เนื้อเรื่อง

                                เสียงรถยนต์ยังไม่ทันดับสนิท ก็ได้ยินเสียงมาก่อนที่จะเห็นตัวว่า “ปี้ ปี้ ไปยังไงมายังไงเนี่ย  ผมขอถามหน้อยเต๊อะว่าปี้พอจะช่วยหางบฯ อะหยังมาช่วยพัฒนาบ้านผมได้บ้าง”  ผู้เขียนได้แต่ยิ้ม เพราะยังไม่ทันได้ตั้งตัว  พอนั่งได้ที่แล้วจึงตอบผู้ใหญ่บ้านซึ่งกำลังนั่งจ้องรอคำตอบจากผู้เขียนอย่างใจจดใจจ่อ  ผู้เขียนจึงได้อธิบายและชี้แนะว่า “พ่อหลวง..การที่คนเราจะไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นนั้น  ก่อนอื่นเราต้องมองตัวเราก่อนว่า  เราได้พึ่งตัวเราเองอย่างเต็มที่หรือยัง  งบประมาณที่จะมาพัฒนาบ้านเรานะ มีมากมาย แต่เราจะทำอย่างไรให้ได้งบฯ นั้นมาล่ะ  สมมุติพี่เป็นเจ้าของงบประมาณพี่ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าคนๆ เนี่ยะ หรือหมู่บ้านนี้  มีจุดเด่นอะไร  เขามีความขยันมั้ย  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันหรือไม่  เขาทำมาหากินทุนวันแต่สุดท้ายก็ยังลำบากอยู่  เหล่านี้แล้วพี่จึงจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มใจ และสุดความสามารถ “  ผู้ใหญ่บ้านศรีแดนเมือง นั่งคิดอยู่นานแล้วพูดว่า ”เอ…แล้วจะทำยังไงดีล่ะปี้”

                                เล่าถึงเสียงทักทายเพลินไป ลืมบอกไปว่าวันนี้ผู้เขียนได้ออกพื้นที่เพื่อที่จะมาสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการริเริ่ม ประจำปี 2553 (หมู่บ้านคุณภาพชีวิตที่ดี วิถีชีวิตแบบพอเพียง)   ที่บ้านศรีแดนเมือง หมู่ที่ 6 ตำบลยางคราม อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ (อันเป็นหมู่บ้านเป้าหมายของผู้เขียน) หลังจากที่ได้ทักทายกับผู้ใหญ่บ้านแล้วจึงได้เข้าใจและทราบเจตนารมณ์ของผู้ใหญ่บ้านเป็นอย่างดีว่า พร้อมที่จะพัฒนาและร่วมมือกับผู้เขียนในการพัฒนาบ้านศรีแดนเมืองครั้งนี้ และวันนี้ผู้เขียนได้นัดผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาลที่อาศัยอยู่ที่นี่  กรรมการหมู่บ้าน และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี(ชาวบ้านมักเรียกว่าประธานแม่บ้าน) รวมแล้วประมาณ 5 คน  เพื่อมาพูดคุยอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของโครงการริเริ่มและผู้เขียนได้เลือกหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเป้าหมายในการทำงานของผู้เขียน  

ขั้นแรก เราต้องมาวิเคราะห์กันก่อนว่าบ้านของเรามีจุดเด่นอะไร จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส

และอุปสรรคของหมู่บ้านมีอะไรบ้าง   จากการวิเคราะห์พบว่า  ที่นี่มีพระเกจิชื่อดังมีลูกศิษย์มากมายทั้งในกรุงเทพมหานคร  และต่างจังหวัดอื่นๆ อีกมากมาย  อีกทั้งยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของชาวบ้านที่นี่มาก

ดังนั้นเพื่อเป็นการปูทางในการขอสนับสนุนงบประมาณ ผู้เขียนจึงได้สนับสนุนให้มีการ

จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้น  1 กลุ่ม มีสมาชิกเป็นสตรีแม่บ้าน  และยังได้ทราบอีกว่าแม่บ้านส่วนใหญ่มักใช้เวลาว่างในทางที่ผิด คือมีการเล่นการพนันกันบางชนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี จึงได้ชักชวนแม่บ้านจัดตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นมา เพื่อให้แม่บ้านที่ว่างงานทั้งหลายได้มารวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน ในการนี้ผู้เขียนประสานกับทาง กศน.เพื่อที่จะหาแนวทางในการอบรมการเย็บผ้า และการถนอมอาหารแก่สมาชิกกลุ่มอาชีพ ได้รับการตอบรับจากทาง ผู้อำนวยการ กศน.เป็นอย่างดี ท่านได้สนับสนุนวิทยากร งบประมาณในการจัดซื้อวัสดุอบรม และยังให้ยืมจักรเย็บผ้าเพื่อใช้ในกลุ่มอีกด้วย  นอกจากสอนเย็บผ้าแล้ว ยังสอนการทำท๊อฟฟี่จากมะเฟือง มะพร้าว ลำไย  กล้วย  จนปัจจุบันสามารถส่งขายมีกำไรเพิ่มรายได้แก่สมาชิกได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้เขียนเองก็ได้สนับสนุนให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม การจัดทำระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม การจัดทำบัญชี ให้ความรู้ในเรื่องการดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  ปัจจุบันกลุ่มอาชีพได้สมัครลงทะเบียนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP  และขึ้นทะเบียนวิสาหกิจชุมชนประจำปี 2553 เรียบร้อยแล้ว  และกลุ่มออมทรัพย์ฯ ก็ได้ลงทะเบียนของในส่วนของพัฒนาชุมชนเรียบร้อยแล้ว                                

เมื่อได้เห็นกิจกรรมเหล่านี้แล้ว  ผู้เขียนจึงได้พูดกับผู้ใหญ่บ้านว่า ”เห็นมั้ย พ่อหลวง ถ้าเรา

เริ่มมีกิจกรรมพึ่งตนเองเสียก่อน  งบประมาณต่างๆ  ก็จะตามมาเองเพราะทุกหน่วยงานเห็นว่าบ้านพ่อหลวงมีกิจกรรมพึ่งตนเองสมควรได้รับการสนับสนุนในหลายๆ ด้าน และตอนนี้ทางสำนักงานของพี่(สพอ.ดอยหล่อ)  ได้จัดทำโครงการของบประมาณพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ”พออยู่ พอกิน” ผ่านทางงบพัฒนาจังหวัดให้แก่บ้านพ่อหลวงด้วย  จะได้หรือไม่ได้ก็ว่ากันอีกที แต่ตอนนี้เราต้องร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้านเราให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้ได้นะ”  พ่อหลวงยิ้มแล้วตอบว่า “ผมขอบคุณพี่เป็นอย่างมากที่มาชี้แนะความรู้ให้แก่ชาวบ้านบ้านผม ถ้ามีหยังให้ผมช่วยก็บอกผมได้เลยเน้อปี้”  ผู้เขียนยิ้มและคิดในใจว่า…เห็นชาวบ้านมีความสุขและพอใจในสิ่งที่เราสนับสนุน  เพียงแค่นี้ ”นักพัฒนา” อย่างเราก็สุขใจแล้ว…….

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge  Assets)

- การมีส่วนร่วมของชุมชน

- ให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

- นัดประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมอาชีพและการรวมกลุ่ม

- อธิบายแนวทางการบริหารจัดการกลุ่ม  การจัดทำบัญชี

- สร้างความพึงพอใจกับชาวบ้านในพื้นที่

- ดีใจที่ได้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาตนเองแก่ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายได้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์

แก่นความรู้ (Core Competencies)

- ศึกษาปัญหา  วิเคราะห์ข้อมูล

- ปรึกษาหารือ

- สนับสนุนชี้แนะ

- การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ  และกลุ่มอาชีพ

- ชี้แนะด้วยความสุขุม รอบคอบ และมีองค์ความรู้

- สร้างความพึงพอใจ

- งานสัมฤทธิ์ผล  รู้สึกเป็นสุข                               

กลยุทธ์ในการทำงาน

  1.  ศึกษาข้อมูล   คัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายในการปฏิบัติงาน  
  2. ปรึกษาหารือร่วมกับ ผู้นำ และคณะกรรมการหมู่บ้าน หาแนวทางแก้ไขปัญหา
  3. สนับสนุนชี้แนะการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้าน
  4. สร้างความพึงพอใจแก่สมาชิกในหมู่บ้าน  เมื่อกิจกรรมที่ดำเนินร่วมกันประสบผลสำเร็จ งานสัมฤทธิ์ผล  รู้สึกเป็นสุข   ก็ทำให้เรารู้สึกดีใจและเป็นสุขไปด้วย

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

-          ระเบียบข้อบังคับของกลุ่มฯ

-          ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

*************************************

OfficeFolders theme by Themocracy